กสม.ยินดีรัฐบาลเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง ย้ำแก้ปัญหาอย่างสันติ

การเมือง
22 ต.ค. 63
15:24
254
Logo Thai PBS
กสม.ยินดีรัฐบาลเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง ย้ำแก้ปัญหาอย่างสันติ
กสม.แสดงความยินดีที่รัฐบาลยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงใน กทม. เสนอเร่งแก้ความขัดแย้งประเทศ ลดการเผชิญหน้าผู้เห็นต่าง และให้ทุกฝ่ายรับฟังความเห็น-เจรจาโดยสันติวิธี

วันนี้ (22 ต.ค.2563) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์สนับสนุนการเดินหน้าเจรจาในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธี โดยระบุว่า

ตามที่ได้เกิดสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเมื่อวานนี้ (21 ต.ค.2563) ผู้ประท้วงได้รวมตัวกันชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลจนมีการยื่นหนังสือเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก และมีการชุมนุมอีกหลายแห่ง ซึ่งบางแห่งมีการปะทะกับกลุ่มที่เห็นต่าง โดยในเวลา 19.00 น. นายกรัฐมนตรีได้ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์แสดงท่าทีเพื่อหาทางออกให้ประเทศไทยผ่านกระบวนการในระบบรัฐสภา และในวันนี้รัฐบาลได้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครแล้วนั้น

กสม.มีความยินดีที่รัฐบาลได้ดำเนินการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ อันเป็นข้อจำกัดในการใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนมากกว่าในสถานการณ์ปกติ อีกทั้งได้ใช้กระบวนการรัฐสภาในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของประเทศ จึงขอเสนอให้ทุกฝ่ายได้พิจารณาดังนี้

ขอให้รัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติได้ใช้การประชุมรัฐสภา สมัยวิสามัญ ระหว่างวันที่ 26-27 ต.ค.นี้ แก้ไขปัญหาความขัดแย้งของประเทศอย่างจริงจัง และขอให้มีผลที่สามารถยุติปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม

ขอให้รัฐบาลอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยให้กลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่าย รวมทั้งป้องกันและลดการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มผู้เห็นต่างที่จะก่อให้เกิดความรุนแรง เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกฝ่ายพึงมีพึงได้ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) รับรองไว้

ขอให้ทุกฝ่ายทั้งรัฐบาล ผู้ชุมนุมกลุ่มต่าง ๆ และประชาชน รับฟังและเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างของกันและกัน ลดเงื่อนไขและหลีกเลี่ยงการใช้ถ้อยคำหรือการสื่อสารด้วยวิธีการใด ๆ ที่จะเป็นอุปสรรคในการเจรจาเพื่อหาข้อยุติความขัดแย้งโดยสันติวิธี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง