THE EXIT : คนไทยพลัดถิ่นร้องแก้ ส.ป.ก.

สังคม
25 ต.ค. 63
19:22
501
Logo Thai PBS
THE EXIT : คนไทยพลัดถิ่นร้องแก้ ส.ป.ก.
คนไทยพลัดถิ่นที่บ้านวังผา ต.แม่จะเรา อ.แม่ระมาด จ.ตาก กำลังประสบปัญหาสิทธิการเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. สาเหตุมาจากในช่วงเวลาที่มีการสำรวจเพื่อออกหนังสืออนุญาตนั้นเกิดขึ้นขณะพวกเขายังเป็นคนไร้สัญชาติ

นายอุ่นเรือน ทึบแปง อายุ 67 ปี อดีตคนไทยพลัดถิ่นบ้านวังผา ต.แม่จะเรา อ.แม่ระมาด จ.ตาก เข้าบุกเบิกและทำกินในที่ดินเนื้อที่ 18 ไร่ ตั้งแต่ปี 2526 หลังจากนั้นในปี 2538 สำนักงานการปฏิรูปที่ดิน จ.ตาก ได้เข้ามาสำรวจพื้นที่เพื่อออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินประเภทเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก.4-01 แต่ในขณะนั้น นายอุ่นเรือนยังไม่มีสัญชาติไทยจึงยังไม่ได้รับสิทธิ

 

นายอุ่นเรือน กล่าวว่า อดีตกำนันตำบลแม่จะเรา ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในช่วงที่มีการสำรวจที่ดิน ส.ป.ก.แนะนำให้ตนเองนำชื่อบุคคลสัญชาติไทยคนอื่นที่เชื่อถือได้มาใส่เป็นผู้ถือสิทธิแทนไปก่อน นายอุ่นเรือนจึงทำตามทำให้หนังสือ ส.ป.ก.4-01 ที่ออกมาเป็นชื่อของบุคคลอื่น ทั้งที่ในความเป็นจริง นายอุ่นเรือนเป็นผู้ทำประโยชน์ตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน

 

23 ปี หลังจากนายอุ่นเรือนได้รับหนังสือ ส.ป.ก.4-01 ในปี 2561 เขาก็ได้รับการลงรายการสัญชาติไทย ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนในการเข้าทำประโยชน์ในเขต ส.ป.ก.แต่นายอุ่นเรือนกลับไม่สามารถนำ ส.ป.ก.กลับมาเป็นของตัวเองได้เพราะตามกฎหมายระบุว่า ผู้รับโอนที่ดิน ส.ป.ก.ต้องเป็นบุคคลในครอบครัวของผู้มีสิทธิทำประโยชน์เดิมเท่านั้น โดยเจตนารมย์ของกฎหมายเพื่อป้องกันการนำที่ดิน ส.ป.ก.มาซื้อขายเปลี่ยนมือ

 

นายสีมอย อินหว่าง อายุ 43 ปี เป็นอดีตคนไทยพลัถิ่นในบ้านวังผาอีกคนหนึ่งที่ประสบปัญหาเดียวกับนายอุ่นเรือน

นายสีมอยได้รับสัญชาติไทยตั้งแต่ปี 2554 และยังคงทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.อย่างต่อเนื่องทุกปี แต่ชื่อผู้ทำประโยชน์ที่ระบุในเอกสารยังเป็นชื่อของบุคคลอื่นที่นายสีมอยนำมาเป็นผู้รับสิทธิแทน

 

แม้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา นายสีมอยยังสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้เสมือนว่าตัวเองมีชื่อเป็นผู้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.แปลงนี้ เพราะผู้ที่นายสีมอยนำชื่อมาใช้เป็นผู้ที่สามารถไว้เนื้อเชื่อใจได้ แต่นายสีมอยยังหวังว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดตาก จะช่วยเหลือแก้ไขให้ที่ดิน ส.ป.ก.แปลงนี้มีชื่อเขาเป็นผู้ทำประโยชน์เพราะมองว่าหากปล่อยให้รายชื่อผู้อื่นเป็นเจ้าของต่อไปอาจมีปัญหาทางกฎหมายในอนาคต

พื้นที่บ้านวังผา เป็นแหล่งปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญใน จ.ตาก นอกจากนี้ยังมีการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และหน่อไม้ฝรั่งส่งเข้าโรงงาน

สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับคนไทยพลัดถิ่นที่ไม่มีหนังสือ ส.ป.ก.4-01 เป็นของตัวเอง คือ เมื่อพวกเขาลงทุนปลูกพืชไปแล้วและเกิดปัญหาตามมา เช่น โรคระบาด ภัยแล้งหรือน้ำท่วมเกิดขึ้น พวกเขาจะเข้าไม่ถึงสิทธิการได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐ เพราะไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินเป็นหลักฐาน

 

กำนันตำบลแม่จะเรา อ.แม่ระมาด จ.ตาก ให้ข้อมูลว่าที่ผ่านมาเคยมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้ปัญหา ส.ป.ก.ของอดีตคนไทยพลัดถิ่นในบ้านวังผาหลายครั้ง แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา

 

ไทยพีบีเอสสอบถามไปยังสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดตาก ได้รับการชี้แจงจากฝ่ายกฎหมาย ประจำสำนักงานผ่านทางเอกสาร โดยระบุว่า นับตั้งแต่มีการยื่นเรื่องเพื่อให้แก้ไขปัญหา ส.ป.ก.ของคนไทยพลัดถิ่นบ้านวังผาก็ได้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน จ.ตาก 2 ครั้ง โดยในครั้งแรกจัดขึ้นในวันที่ 10 มิ.ย.2559 โดยที่ประชุมเสนอให้ผู้ปกครองท้องที่รวบรวมรายชื่อของผู้ที่ประสบปัญหาเพื่อรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดตาก สั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป โดยคณะกรรมการฯ อนุมัติหลักการและให้ดำเนินการตามที่เสนอ

 

การประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดตากที่มีการกล่าวถึงปัญหาของคนไทยพลัดถิ่นครั้งต่อมา เกิดขึ้นในวันที่ 14 มี.ค.2561 ซึ่งมีการระบุในบันทึกการประชุมว่า ที่ผ่านมายังไม่มีการส่งรายชื่อของเกษตรกรผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนให้แก่ ส.ป.ก.ตาก และยังไม่มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้การแก้ไขปัญหายังไม่มีความคืบหน้า

อย่างไรก็ตาม ในวันนั้นคณะกรรมการฯมีมติเห็นชอบให้แก้ปัญหาความเดือดร้อนของคนไทยพลัดถิ่นและชาวบ้านใน อ.แม่สอด แม่ระมาด และอุ้มผาง ที่ประสบปัญหาเดียวกัน โดยให้คณะอนุกรรมการปฏิรูปที่ดินระดับอำเภอเป็นผู้ดำเนินการ

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง