"วิษณุ" กางไทม์ไลน์แก้รัฐธรรมนูญรวบรัด เร็วสุด 2 เดือน

การเมือง
26 ต.ค. 63
16:45
2,211
Logo Thai PBS
"วิษณุ" กางไทม์ไลน์แก้รัฐธรรมนูญรวบรัด เร็วสุด 2 เดือน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กางไทม์ไลน์รัฐบาลเสนอรวบรัดแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในเวลา 2 เดือน หนุน 2 สภาฯ พิจารณาร่างฯ 6 ฉบับพร้อมกันทันทีเปิดสภาฯ เดือน พ.ย. ก่อนตั้ง กมธ.พิจารณาวาระ 2 และ 3 ต่อไป ชี้เลือก ส.ส.ร.ต้องใช้เวลา เพราะขณะนี้ยังไม่มีสักคน

วันนี้ (26 ต.ค.2563) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นชี้แจงกรณีญัตติในการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ โดยระบุว่า หลายคนอภิปรายว่า ญัตติ 3 ข้อ ทำให้อึดอัดที่จะอภิปรายลงลึก เนื่องจากบางข้อตั้งประเด็นให้ไม่สามารถอภิปรายได้ ซึ่งส่วนตัวรู้สึกเห็นใจ แต่ยืนยันว่า เสนอตามรัฐธรรมนูญ ม.165 หาก ครม.เห็นปัญหาสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน สามารถเปิดอภิปรายทั่วไปได้

3 ญัตติเป็นลำดับความเป็นมาของปัญหา หากรัฐบาลไม่อธิบายความเป็นมา สมาชิกรัฐสภาจะเกิดความสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้น

กรณีที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความสับสนร้ายแรง เมื่อ 04.00 น. ของวันที่ 15 ต.ค. 63 เพราะก่อนหน้านั้น เวลา 17.00 น. มีเหตุการณ์ขัดขวางขบวนเสด็จพระราชดำเนิน รวมถึงความเป็นห่วงไปถึง COVID-19 และสถานการณ์น้ำท่วม ทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริง

ขณะที่ข้อเรียกร้องในการชุมนุมที่เกี่ยวกับรัฐบาลมีประมาณ 7 ข้อ ในส่วนการเรียกร้องเปิดสภาฯ สมัยวิสามัญ ขณะนี้ได้เปิดแล้ว ส่วนการขอให้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รัฐบาลก็ได้ยกเลิกหลังประกาศใช้เพียง 7 วัน เสนอเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะฉบับ iLaw หรือฉบับประชาชนนั้น เรื่องนี้อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภาแล้ว เมื่อเปิดสภาฯ สมัยสามัญ เดือน พ.ย. สภาฯ สามารถยกขึ้นพิจารณาเมื่อใดก็ได้


รองนายกรัฐมนตรี ยังได้เปิดเผยไทม์ไลน์ของรัฐบาล โดยหากจะเร่งให้การพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเร็วที่สุด ควรพิจารณาร่างฯ รัฐบาล 2 ฉบับ และร่างฯ จากพรรคร่วมฝ่ายค้าน 4 ฉบับ พร้อมกันทั้ง 6 ฉบับทันทีที่มีการเปิดสภาฯ แต่หากรอร่างฯ ILaw ยังต้องรอเวลาไปถึงกลางเดือน พ.ย.เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญวาระที่ 1 จะเข้าสภาฯ ในเดือน พ.ย.แน่นอน จากนั้นจะมีการตั้ง กมธ.พิจารณา ซึ่งประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว.เท่านั้น เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว เมื่อแล้วเสร็จ ต้องทิ้งไว้ 15 วัน ตามรัฐธรรมนูญ กว่าจะกลับเข้าสภาฯ วาระที่ 2 และ 3 คือ เดือน ธ.ค.

เชื่อว่าในเดือน ธ.ค.ทั้ง 3 วาระจะแล้วเสร็จ แต่ยังประกาศใช้ไม่ได้ เพราะต้องรอประชามติ ซึ่งต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการลงประชามติ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้แจ้งว่า จะส่งร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการลงประชามติเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ได้ ภายในสัปดาห์หน้า และรัฐบาลขอให้พิจารณาร่วมกัน 2 สภา โดยถือเป็นร่างกฎหมายในการปฏิรูป ซึ่งจะช่วยรวบรัดตัดขั้นตอนได้

หากแล้วเสร็จได้ในเดือน ธ.ค.หรือ ม.ค. จะนำร่าง พ.ร.บ.ฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ตามรัฐธรรมนูญทรงมีเวลาพิจารณา 90 วัน เมื่อลงพระปรมาภิไธยกลับลงมา จะต้องนำร่างฯ รัฐธรรมนูญ ไปออกเสียงประชามติ โดยจะใช้เวลาเมื่อใดขึ้นอยู่กับกฎหมายออกเสียงประชามติ ในที่สุดการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จลุล่วง

แต่หากมี ส.ส.ร.ยังต้องมีการดำเนินการเลือกต่อไปอีก ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี ส.ส.ร.สักคน

ชี้ "ประยุทธ์" ลาออกต้องใช้ 366 เสียงหนุนคนใหม่

นายวิษณุ กล่าวถึงข้อเสนออีก 3 ข้อ คือ นายกฯ ลาออก ยุบสภา และปฏิรูปสถาบัน สำหรับการปฏิรูปสถาบัน ยืนยันว่า ยังไม่เข้าใจจึงต้องการฟังการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาในส่วนนี้ ส่วนการยุบสภาฯ รัฐบาลยังใคร่ครวญว่า สภาฯ มีความผิดอะไรจึงต้องยุบสภา

ในกรณีข้อเสนอนายกฯ ลาออก ฝ่ายกฎหมายได้ทำข้อเสนอถึงนายกฯ ต้องหาแนวทางว่าจะหานายกฯ คนต่อไปได้อย่างไร ซึ่งเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ ม.272 วรรค 1 ที่ยังไม่ได้แก้ไข ณ ขณะนี้ คือ นายกฯ ต้องเป็นผู้ที่มาจากรายชื่อที่เสนอ และเสนอตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว


นายวิษณุ ระบุว่า ขณะนี้มีอยู่ 5 คน หากตัด พล.อ.ประยุทธ์ และตัดนายธนาธร ออกไป ก็จะเหลือ 3 คน แต่ทั้งนี้ มีข้อกฎหมายผูกไว้อีกว่า ผู้ที่จะเป็นนายกฯ ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้ง 2 สภาฯ ที่มีอยู่ในขณะนี้ ช่วงเช้าที่ผ่านมาในการเปิดประชุม รัฐสภามีสมาชิกที่ออกเสียง 732 คน กึ่งหนึ่งคือ 366 เสียง หมายถึงผู้ที่จะเป็นนายกฯ คนต่อไปต้องได้คะแนนเสียง 366 เสียง ต่อให้ ส.ว.งดออกเสียงทั้งหมด อย่างที่ทุกคนเรียกร้อง ก็ต้องไประดมให้ได้ 366 เสียง

หลายคนอาจจะบอกว่า มีคนเสนอแนะให้พลังประชารัฐเทคะแนนเสียงให้พรรคฝ่ายค้าน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นเรื่องที่คิดและเสนอขึ้นมา เพราะนายกฯ ก็มีเสียงสนับสนุนอยู่ว่า “อย่าออก” ดังนั้น จะออกไม่ออก เป็นดุลยพินิจนายกฯ ที่จะพิจารณาต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง