มติศาลฯงดไต่สวน "นกแอร์" ยื่นฟื้นฟูกิจการ เหตุไม่มีเจ้าหนี้ยื่นค้าน

เศรษฐกิจ
27 ต.ค. 63
14:20
696
Logo Thai PBS
มติศาลฯงดไต่สวน "นกแอร์" ยื่นฟื้นฟูกิจการ เหตุไม่มีเจ้าหนี้ยื่นค้าน
ศาลล้มละลายกลางมีมติงดไต่สวน การยื่นขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เนื่องจากไม่มีเจ้าหนี้ยื่นคัดค้าน

วันนี้ (27 ต.ค.2563) ศาลล้มละลายกลางนัดไต่สวนการยื่นขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ในเวลา 10.00 น.ที่ผ่านมา โดยนายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคณะกรรมการบริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 5 คน ทนายและผู้รับมอบจากเจ้าหนี้ของบริษัทฯ ที่แจ้งเข้าฟังการพิจารณาคดีรวม 6 เจ้า หลังก่อนหน้านี้นกแอร์ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ต่อศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา

ศาลฯ มีมติงดไต่สวนการยื่นขอฟื้นฟูกิจการของนกแอร์ เนื่องจากไม่มีเจ้าหนี้ยื่นคัดค้านนกแอร์ขอทำแผนฟื้นฟู ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 โดยศาลฯ นัดฟังพิพากษาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของนกแอร์ในวันที่ 4 พ.ย.นี้ เวลา 09.00 น.

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และคณะกรรมการบริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ถือว่าพอใจในระดับนึง พร้อมมั่นใจสว่า ศาลจะให้นกแอร์เป็นผู้ฟื้นฟูกิจการ เบื้องต้น เจ้าหนี้ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะให้นกแอร์เป็นผู้ทำแผนโดยเจ้าหนี้มีประมาณ 400-500 ราย ทั้งผู้บริหาร พนักงาน แต่หลัก ๆ จะเป็นเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบินในต่างประเทศ โดยสิ้นสุดงบประมาณช่วงไตรมาสแรกปี 2563 นกแอร์มีหนี้สิน 25,500 ล้านบาท

การยื่นศาลฯ เนื่องจากตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา นกแอร์ประสบปัญภาวะขาดทุนทั้งจากการแข่งขันอย่างรุนแรงในอุตสาหกรรมการบิน การทุ่มตลาดราคาตั๋วเครื่องบิน จนทำให้ผู้โดยสารลดลงและจากสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้

สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการนั้น นกแอร์ได้เสนอผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ประกอบไปด้วย บริษัทแกรนท์ ธอนตัน สเปเชียลิสท์ แอ๊ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับนายปริญญา ไววัฒนา ,นายไต้ ชอง อี, นายเกษมสันต์ วีระกุล,นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร และนายชวลิต อัตถศาสตร์ กรรมการของบริษัทฯ โดยกรอบการฟื้นฟูกิจการ ที่เสนอต่อศาลล้มละลายกลางมี 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การปรับโครงสร้างหนี้ และโครงสร้างทุน เช่น การจัดสรรแหล่งเงินเพิ่มเติม การหาพันธมิตรธุรกิจหรือเพิ่มทุน วางแผนระยะยาว ในการหาผู้ร่วมลงทุน เพื่อนำเงินมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการพัฒนาธุรกิจ ปรับโครงสร้างหนี้ และชำระหนี้

2.การบริหารจัดการกิจการของนกแอร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ เช่น การปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบิน ปรับฝูงบิน เพิ่มจำนวนเที่ยวบิน การหารายได้ในช่องทางใหม่เพิ่มขึ้น อย่างการสร้างรายได้จากการขนส่งสินค้า (คาร์โก้) ในเส้นทางบินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น การหารายได้ในรูปแบบใหม่ร่วมกับพันธมิตร ในลักษณะการขายตั๋วเครื่องบินรวมกับโรงแรมหรือรถเช่า การเพิ่มโอกาสในการขายบัตรโดยสาร

3.การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น พร้อมยืนยันว่า จะไม่มีการปรับลดพนักงาน แต่มีแผนจะเพิ่มจำนวนนักบินและลูกเรือเพิ่มขึ้น เนื่องจากนกแอร์มีแผนจะนำเครื่องบินเข้ามาดำเนินธุรกิจเพิ่มอีก 2 ลำ โดยปัจจุบันมีเครื่องบินให้บริการอยู่ 25 ลำคาดว่า จะทำรายละเอียดแผนฟื้นฟูให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ก่อนจะเสนอศาล เพื่อขออนุมัติและบริหารแผนฟื้นฟูต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง