กองปราบรวบ 3 เซียนพระ คดีฉ้อโกงขายพระสมเด็จปลอม

อาชญากรรม
28 ต.ค. 63
15:05
41,078
Logo Thai PBS
กองปราบรวบ 3 เซียนพระ คดีฉ้อโกงขายพระสมเด็จปลอม
กองปราบปรามแถลงผลการจับกุม 3 ผู้ต้องหาเซียนพระคดีฉ้อโกงประชาชน และเตรียมแจกพระสมเด็จอีก 2 แสนองค์ให้กับประชาชน แลกกับค่าสร้อยคล้องพระ เบื้องต้นผู้ต้องหายังให้การปฏิเสธ

วันนี้ (28 ต.ค.2563) พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม ผู้บังคับการกองปราบปราม แถลงผลการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา 3 คน ซึ่งเป็นเซียนพระ ในคดีปลอมเอกสารจดหมายเหตุ, ปลอมและใช้เอกสารปลอม, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หลังชุดจับกุมนำหมายศาลเข้าจับกุมที่บ้านพักในกรุงเทพฯ และ จ.สงขลา พร้อมเข้าตรวจสอบและอายัดของกลางจากศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน จ.สงขลา เมื่อวานนี้ (27 ต.ค.)

พล.ต.ต.สุวัฒน์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากมีผู้เสียหายคนหนึ่งติดต่อขอเช่าพระสมเด็จจากกลุ่มผู้ต้องหาในราคา 1.8 ล้านบาท แต่เมื่อได้พระมาและนำไปให้เซียนพระและสถาบันต่างๆ ตรวจสอบ ปรากฎว่าเป็นการปลอมขึ้นมา จึงเข้าแจ้งความให้กองปราบปรามตรวจสอบและดำเนินคดี

จากนั้นกองปราบได้ประสานผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลปากร และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เข้าตรวจสอบข้อมูลที่ผู้ต้องหาเคยนำไปแอบอ้างว่าสืบเชื้อสายมาจากต้นตระกูลที่มีชื่อเสียง และนำภาพถ่ายไปจัดแสดงในศูนย์มหาสมบัติ 3 แผ่นดิน จึงพบว่ามีการทำเอกสารปลอมขึ้นมาจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดี พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่เคยเช่าพระหรือซื้อวัตถุโบราณจากกลุ่มผู้ต้องหา เข้าแจ้งความร้องทุกข์ เนื่องจากทราบว่ากลุ่มผู้ต้องหายังได้ประกาศว่าจะแจกพระสมเด็จ 200,000 องค์ให้กับประชาชนที่สนใจ แลกกับค่าสร้อยคล้องพระองค์ละ 1,000 บาท

 

ส่วนการสอบสวนผู้ต้องหาทั้งหมดยังให้การภาคเสธ โดยผู้ต้องหาคนหนึ่งอ้างว่าไม่มีเจตนาหลอกลวงเอาเงินจากประชาชน เพราะตนเองก็ไม่ทราบเช่นกันว่าเป็นพระปลอม เช่นเดียวกับภาพถ่ายต่างๆ เพราะเป็นมรดกตกทอด พร้อมยืนยันว่าเป็นเหลนของหลวงวิจารณ์เจียรนัยจริง แต่จากการสืบสวนและข้อมูลคำยืนยันจากทายาทโดยสายเลือดแล้ว พบว่าไม่ใช่ข้อเท็จจริง ขณะที่การขยายผลตรวจสอบ เบื้องต้นยังไม่พบว่ามีผู้ต้องหารายอื่นร่วมกระทำผิด และอยู่ระหว่างการตรวจสอบประวัติอื่นๆ ย้อนหลัง

ด้านนางบุศยารัตน์ คู่เทียม นักจดหมายเหตุเชี่ยวชาญ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ยืนยันว่า หนึ่งในภาพถ่ายที่นำไปแอบอ้าง เป็นภาพของบุคคลอื่น ไม่ใช่ภาพถ่ายของหลวงวิจารณ์เจียรนัย ส่วนวัตถุโบราณที่อายัดไว้จะมีชิ้นใดบ้างเป็นของจริงหรือของปลอม ไม่สามารถระบุได้ทั้งหมด เพราะการตรวจสอบโดยละเอียดต้องใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่าย สำหรับส่วนที่มีการแอบอ้างภาพว่ามาจากหอจดหมายเหตุฯ จากการตรวจสอบพบว่าไม่เป็นความจริง จึงได้แจ้งความกับตำรวจกองปราบปรามให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ต้องหาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาตามหมายจับไปแล้ว ได้อนุญาตให้ผู้ต้องหาประกันตัวโดยใช้เงินสดคนละ 75,000 บาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง