ลงนามแล้ว! รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สัญญา 2.3 มูลค่า 5 หมื่นล้าน

เศรษฐกิจ
28 ต.ค. 63
19:39
9,584
Logo Thai PBS
ลงนามแล้ว! รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน สัญญา 2.3 มูลค่า 5 หมื่นล้าน
นายกรัฐมนตรีเป็นประธานลงนามสัญญารถไฟความเร็วสูงไทย - จีน สัญญา 2.3 มูลค่า 5 หมื่นล้าน เชื่อมั่นส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยความเชื่อมโยงทางคมนาคม ขณะที่ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย คาดเริ่มเปิดให้บริการปี 2568 ช่วยพัฒนาบุคลากรไทยด้วยเทคโนโลยีระบบรางจากจีน

วันนี้ (28 ตุลาคม 2563) เวลา 15.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ของโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา)


นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและขนส่งของประเทศ โดยกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี และพยายามผลักดันให้เกิดโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการพัฒนารถไฟความเร็วสูง มิได้เป็นเพียงแค่ทางเลือกในการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยสำหรับประชาชนเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือใน การพัฒนาประเทศ พัฒนาภูมิภาค โดยเฉพาะหัวเมืองหลักตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะพัฒนาเป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาค โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนควบคู่กันไป


ขณะเดียวกัน เส้นทางนี้ยังเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ในการเชื่อมไทยไปสู่ สปป.ลาว และจีน โดยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทาง สายไหมยุคใหม่ ที่เรียกว่า Belt and Road Initiative หรือ BRI ที่จะเชื่อมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปถึงยุโรปได้ด้วยทางรถไฟ ผมขอชื่นชมกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการที่ได้เร่งรัดการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงให้มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การลงนามในวันนี้เป็นการลงนามในสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ลงนามจ้าง บริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD.) ซึ่งเป็นกิจการค้าร่วมกับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์เปอเรชั่น (CHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION) รัฐวิสาหกิจของจีนในลักษณะความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ (G to G)


โดยมีขอบเขตงาน ระยะทาง 253 กิโลเมตร งานวางระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และจัดหาขบวนรถไฟความเร็วสูง (สามารถทำความเร็ว 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง) งานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและซ่อมบำรุง และงานถ่ายทอดเทคโนโลยี สัญญา 2.3 มีวงเงิน 50,633.50 ล้านบาท ภายใต้กรอบวงเงินรวมของโครงการ 174,412.21 ล้านบาท

คาดเริ่มเปิดใช้ 2568 ยกระดับมาตรฐานรถไฟไทย

ขณะที่ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จและคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการในปี 2568 จะเป็นการยกระดับมาตรฐานรถไฟไทย ให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว สนับสนุนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สร้างโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว กระจายรายได้ นำความเจริญสู่ท้องถิ่นตลอดแนวเส้นทางโครงการ


นอกจากนี้ ยังทำให้บุคลากรของประเทศไทยได้รับความรู้และเทคโนโลยีระบบรางจากจีนต่อยอดองค์ความรู้ต่อไปในอนาคต โดยการรถไฟฯ อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบรายละเอียดงานโยธา ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ระยะทาง 354.5 กิโลเมตร เชื่อมไทย-ลาว-จีน และหลังจากที่ก่อสร้างทั้ง 2 ระยะแล้วเสร็จ ก็จะเป็นการเปิดเส้นทางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงไทย จีน และเอเชียให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง