บอร์ดโรคติดต่อฯ ชง ศบค.ลดเวลากักตัว COVID-19 เหลือ 10 วัน

สังคม
29 ต.ค. 63
15:25
4,473
Logo Thai PBS
บอร์ดโรคติดต่อฯ ชง ศบค.ลดเวลากักตัว COVID-19 เหลือ 10 วัน
"อนุทิน ชาญวีรกูล" เผยหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2563 ที่ประชุมมีมติเห็นด้วยกับหลักการลดเวลาการกักตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วัน เตรียมเสนอ ศบค.พิจารณาต่อไป พร้อมแนะให้เน้นความปลอดภัยและการติดตามตัวผู้กักตัวอย่างเข้มข้น

วันนี้ (29 ต.ค.2563) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2563 ว่า สถานการณ์ COVID-19 ของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พบในขณะนี้ส่วนใหญ่เดินทางมาจากต่างประเทศ แม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อภายในประเทศบ้าง ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่จากประสบการณ์การทำงานตั้งแต่ต้นปี ทำให้เราสามารถควบคุมโรคได้ดี ตั้งแต่การตรวจคัดกรองอย่างละเอียด ทำให้ค้นพบเร็ว ควบคุมโรคได้ดี

ภาพรวมในเวลานี้ ประเทศไทยมีศักยภาพในการต่อสู้ COVID-19 ทั้งทรัพยากร เวชภัณฑ์ แล็บ ยา แพทย์พยาบาล ที่สำคัญไม่มีผู้ป่วยหนักในไอซียู และอัตราการเสียชีวิตต่ำมากน้อยกว่าร้อยละ 2 ทำให้ประชาชนมั่นใจได้

นายอนุทิน ระบุต่อว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ยังได้เห็นด้วยกับหลักการ เรื่องการลดเวลาการกักตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วัน และให้ข้อเสนอแนะให้เน้นเรื่องความปลอดภัยและการติดตามตัวผู้กักตัวอย่างเข้มข้น พร้อมให้ผู้กักตัวปฏิบัติตัวแบบ New normal โดยจะเสนอ ศบค.พิจารณาต่อไป

ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข

ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข

ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข


นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังมีมติเห็นชอบ ร่างนโยบายการกักกันโรคในประเทศ (National Quarantine Policy) รองรับการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในระยะยาว ประกอบด้วย 3 หลักการ คือ 1.จัดให้มีระบบการกักกันโรค และสถานที่กักกันผู้สัมผัสโรคหรือพาหะ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน เหมาะสมกับบริบทของการปฏิบัติงานและกลุ่มเป้าหมาย และเพียงพอทุกพื้นที่

2.พัฒนากลไกการบริหารจัดการระบบการกักกันโรคและสถานที่กักกันโรคให้เป็นเอกภาพ ทั้งในระดับชาติ และระดับจังหวัด ที่สามารถทำงานเชื่อมโยงกันได้ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร

3.เร่งพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลแบบบูรณาการ เพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้ง ได้กำหนดระบบการจัดการในสถานที่กักกันโรค และมีวิธีการการตรวจสอบย้อนหลังเมื่อพบเหตุการณ์ผิดปกติ รวมทั้งมีการกำกับติดตาม และประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงาน ทั้งในระดับชาติและพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ

ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข

ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข

ภาพ : กระทรวงสาธารณสุข


ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้าที่จะมีการกำหนดเวลาการกักโรคเป็น 14 วัน ได้มีการศึกษาระยะเวลา โดยนับจากการรับเชื้อจนผลการตรวจ RT-PCR เป็นบวก (ทั้งในผู้ป่วยที่มีอาการและไม่มีอาการ) รวมถึงโอกาสในการแพร่เชื้อให้บุคคลอื่น ของผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ ระบุว่า หากกักตัว 14 วัน จะมีผู้ที่ยังไม่แสดงอาการน้อยกว่า ร้อยละ 1 หากกักตัว 10 วัน จะมีผู้ป่วยที่ยังไม่แสดงอาการ ร้อยละ 5 และหากกักตัว 7 วัน จะมีผู้ป่วยที่ยังไม่แสดงอาการ ร้อยละ 20 และหากกักตัว 5 วัน จะมีผู้ป่วยที่ยังไม่แสดงอาการ ร้อยละ 50 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง