คัดค้านย้ายหมอชิตใหม่ กลับมาที่หมอชิตเก่า

สังคม
29 ต.ค. 63
21:21
1,312
Logo Thai PBS
คัดค้านย้ายหมอชิตใหม่ กลับมาที่หมอชิตเก่า
ชาวชุมชนหลังหมอชิตเก่า รวมตัวคัดค้านโครงการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ หรือ สถานีขนส่งหมอชิต 2 กลับมาใช้พื้นที่หมอชิตเก่า บนถนนพหลโยธิน หวั่นสร้างความแออัดการจราจรติดขัด และชาวบ้านอาจได้รับผลกระทบต้องถูกไล่ที่เวนคืนที่ดินจากกรุงเทพมหานคร

วันนี้(29 ต.ค.2563) ทีมข่าวรายการสถานีประชาชน ลงพื้นที่พบกับชาวชุมชนในซอยวิภาวดีรังสิตซอย 5 แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม.พร้อมใจขึ้นป้ายประท้วงคัดค้านการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ หรือ สถานีขนส่งหมอชิต 2 (บขส.) บนถนนกำแพงเพชร แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. กลับมายังหมอชิตเก่า ตรงข้ามสวนจตุจักร บนถนนพหลโยธิน แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กทม. ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส

 


โดยชาวบ้านอ้างโครงการดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนที่สัปทาน เนื่องจากหากพิจารณาพื้นที่การใช้งานของ บขส. พบมีสัดส่วน 13-15 เปอร์เซ็นต์เท่านั่น ส่วนที่เหลืออีกกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นที่การพาณิชย์คอมเพล็กซ์ของบริษัทเอกชน ทั้งศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน ศูนย์ประชุม ส่วนพื้นที่ลานจอดรถขนาดใหญ่ด้านหลัง จะมีการพัฒนาเป็นอาคารจอดรถ 2 ชั้น และเป็นสถานีปล่อยรถของบขส. รวมถึงสำนักงาน บขส.อยู่ในพื้นที่เดียวกัน

 


การย้าย บขส.กลับมาอยู่ในโครงการสัมปทานดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีการสร้างทางยกระดับหรือถนนลอยฟ้า เพื่อเป็นทางออกจากโครงการคอมเพล็กซ์สู่ถนนวิภาวดีรังสิต ซอย 5 และทางด่วนโทลล์เวย์ สำหรับการสัญจรของรถ บขส. กว่า 600 คันต่อวัน ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ในแนวทางยกระดับจึงต้องถูกเวนคืนที่ดิน 35 แปลง รวมระยะทางกว่า 530 เมตร

 

 

ซึ่งขณะนี้ทางกรมธนารักษ์ แจ้งโครงการยังอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ของการก่อสร้าง รูปแบบอาคาร ก่อนจะสรุปเรื่องและนำเสนอเข้ามติ ครม. คาดว่างานก่อสร้างของคอมเพล็กซ์จะแล้วเสร็จภายในปี 2567 ส่วน บขส. ก็จะเข้าสู่ช่วงการเตรียมย้ายสถานี เพื่อไปให้บริการในพื้นที่ใหม่ตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป

 


ทั้งนี้โครงการดังกล่าวทางกรมธนารักษ์ บอกว่าเป็นโครงการต่อเนื่องจากการทำสัญญาเดิมระหว่างบริษัทบางกอกเทอร์มินอล จำกัด เพื่อพัฒนาพื้นที่ ด้วยมูลค่าลงทุน 26,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่อยู่ 18,000 ล้านบาท รวมพื้นที่ใช้สอย 700,000 ตารางเมตร โดยรัฐจะได้ผลตอบแทนประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากเงินสด 600 ล้านบาท และทรัพย์สินอาคารที่สร้างชดเชยประมาณ 2,400 ล้านบาท

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง