THE EXIT : โรงงาน (พิษ) ปริศนา

สิ่งแวดล้อม
31 ต.ค. 63
19:29
1,730
Logo Thai PBS
THE EXIT : โรงงาน (พิษ) ปริศนา
เกือบ 10 ปี ที่ชาวบ้านหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ร้องเรียนผลกระทบสารเคมีรั่วไหล ล่าสุด กรมควบคุมมลพิษสั่งเข้มงวดดำเนินการกับโรงงานและฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายคดีแพ่ง รวมถึงประสาน ป.ป.ท.ตรวจพบใบอนุญาตโรงงานและ ปปง.ตรวจสอบเส้นทางการเงิน

ทีมงาน THE EXIT พบคราบน้ำสีดำในบ่อสวนยางของนายเทียบ สมานมิตร ชาวบ้านหมู่ 4 ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง แปลงเกษตรแห่งนี้ เป็นหนึ่งในแปลงเกษตรที่ถูกตั้งข้อสังเกตจากเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษว่า ได้รับผลกระทบสารปนเปื้อนรั่วไหลเพราะไม่ห่างจากบริษัท วินโพรเสส จำกัด

 


ผลกระทบจากสารปนเปื้อน ส่งผลให้ต้นยาง อายุกว่า 17 ปี ล้มตาย แปลงต้นยางของนายเทียบ อยู่ไม่ไกลจากบ่อพักน้ำเสียของโรงงาน การสำรวจเมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่า คันกั้นน้ำที่เจ้าของแปลงทำขึ้น เพื่อกั้นน้ำเสียไหลออกจากโรงงาน มีคราบสารปนเปื้อนกระจายอยู่ตามเส้นทางน้ำไหล ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการไหลซึมมาจากชั้นน้ำใต้ดิน

ยางตาย ตายต่อเนื่อง คิดว่าซึมมาจากใต้ดิน บางครั้งก็มีน้ำฝนไหลมาจากโรงงาน แต่หลังๆ เป็นน้ำซึมมาจากใต้ดินมากกว่า


ชาวบ้านที่ต่อสู้ร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวช เพื่อแก้ไขปัญหาพบข้อสังเกตว่าโรงงานอาจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการประกอบกิจการโรงงาน พ.ศ.2554 – 2559 บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ครอบครองวัตถุอันตราย และประกอบกิจการโรงงานโดยไม่มีใบอนุญาต และในปี 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI ดำเนินคดีอาญากับบริษัทประกอบการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีการลักลอบทิ้งวัตถุอันตราย สิ่งปฏิกูล วัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่เกิดจากโรงงานต้นกำเนิดในภาคกลางและภาคตะวันออก

 

ใบอนุญาตเปิดโรงงาน ไร้เยียวยา-ถามความเห็น 

ดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวช ระบุว่า ในปี 2560 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยองออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 2 ใบ 3 ประเภท ให้กับทางบริษัท เช่น โรงงานลำดับที่ 40 (1) อัดเศษกระดาษ โรงงานลำดับที่ 64 (11) อัดเศษโลหะเศษพลาสติก คัดแยกของใช้แล้วทั่วไป และโรงงานลำดับที่ 60 หล่อและหลอมโลหะ เจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวช ระบุว่า อุตสาหกรรมจังหวัดระยองออกใบอนุญาตให้กับบริษัท ไม่พบว่ามีประกาศรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านทั้งที่ชาวบ้านยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ

ปี 58-59 เขาเริ่มมาขอใบอนุญาตโรงงานอีก เมื่อประชาชนคัดค้านก็เลิกไป แต่ต่อมา เมื่ออุตสาหกรรมจังหวัดใหม่มา โรงงานได้รับใบอนุญาต 2 ใบ เมื่อปี 2560

คำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ลงวันที่ 27 มิ.ย.2563 ระบุรายระเอียดว่า บริษัทจัดเก็บวัสดุต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบ  สำหรับประกอบกิจการตามใบอนุญาต เช่น น้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้ว ของเหลวไม่ทราบชนิดบรรจุอยู่ในบ่อคอนกรีต มีรอยการรั่วไหลของเหลว ทำให้พื้นถูกกัดกร่อนตรวจวัดค่าความเป็นกรดและด่างต่ำกว่า 2 ลักษณะนี้ อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือใกล้เคียงโรงงาน


กรณีการสั่งปิดโรงงานนำไปสู่การเยียวยาชาวบ้าน อธิบดีกรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่ไปร่วมบูรณาการสำรวจทั้งทางบก และทางอากาศ ก่อนเข้าประชุมเพื่อหาทางออก ซึ่งมี น.ส.วิชชุดา ไกรพงษ์ กรรมการผู้จัดการโรงงาน และนายเกษม ศรีชมภู ที่ปรึกษาโรงงานเข้าร่วมรับฟังแนวทางการแก้ไข บริษัทวินโพรเสส จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ วันที่ 9 ต.ค.2550 มีกรรมการบริษัทหนึ่งคน คือ น.ส.วิชชุดา ไกรพงษ์ ทุนจดทะเบียนกว่า 480 ล้านบาท

 

ประสาน ป.ป.ท. - ปปง. สอบใบอนุญาต - ปมฟอกเงิน

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ สอบถามกับกรรมการผู้จัดการโรงงาน ทราบว่า เธอเป็นเพียงผู้ได้รับมอบอำนา จากนายโอภาส บุญจันทร์ ประธานกรรมการ บริษัท วิน โพรเซส จำกัด แต่เมื่อให้ติดต่อเพื่อฟังคำชี้แจงเรื่องการเยียวยาช่วยเหลือชาวบ้านกลับติดต่อไม่ได้

การประชุมที่เกิดขึ้นมีการตั้งข้อสังเกตหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการออกใบอนุญาตให้โรงงานว่า ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะแม้จะมีการร้องเรียน และมีความผิดในคดีอาญาชัดเจนกับออกใบอนุญาตประกอบกิจการได้ ซึ่งอธิบดีกรมความคุมมลพิษ ได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐเขต 2 จังหวัดชลบุรี ตรวจสอบ


นอกจากนี้ ยังเตรียมประกาศเขตควบคุมมลพิษ และพื้นที่ประสบสาธารณภัยด้านสารเคมีเพื่อฟื้นฟูแปลงเกษตร และแหล่งน้ำของชาวบ้าน รวมไปถึงเรียกค่าเสียหายทางแพ่งตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมกับบริษัท และส่งเรื่องให้สำนักงานและปราบปรามการฟอกเงินตรวจสอบเส้นทางการเงินของบริษัทว่าเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินหรือไม่


ด้านเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ยังสืบสวนพบเบาะแสว่ามีบริษัทฯ ที่เชื่อมโยงด้านธุรกิจนำสารเคมีไปทิ้งกับโรงงานแห่งนี้ ถึง 2 แห่ง ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ควบคู่ไปกับการติดตามตัวประธานบริษัทที่จะต้องเชิญตัวมาเพื่อหาทางออกร่วมกับชุมชุน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง