รอผลพิสูจน์ "ต้นหอมเปื้อนสี"

สังคม
3 พ.ย. 63
10:20
1,297
Logo Thai PBS
รอผลพิสูจน์ "ต้นหอมเปื้อนสี"
กรมส่งเสริมการเกษตร จ.ระนอง ลงพื้นที่ตรวจสอบ และเก็บตัวอย่างกรณีคลิป "ต้นหอมเปื้อนสี" ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร และมีการใช้สีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ ขณะที่นักวิชาการ คาดเป็นสารเคมีตกค้างทางการเกษตรที่ใช้ในการกำจัดเชื้อรา เป็นเม็ดปุ๋ยสีฟ้า

กรณีโซเชียลได้มีการเผยแพร่คลิปที่แม่ค้าขายผักในจ.ระนอง ร้องเรียนให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตรวจสอบ หลังซื้อต้นหอมจากตลาดค้าส่งในจ.ราชบุรี แล้วพบว่าต้นหอมคล้ายถูกย้อมสี 

วานนี้ (2 พ.ย.2563) ไทยพีบีเอส ลงพื้นที่สำรวจผัก โดยเฉพาะต้นหอม ที่ตลาดนัดวัดหนองโพ ต.หนองโพ อ.โพธาราม จ.ราชุบรี โดยน.ส.กรรณิการ์ การนอก แม่ค้าแผงผัก ยืนยันว่า ขายผักมากว่า 10 ปีแล้ว โดยไปรับผักมาจากตลาดกลางค้าส่งผักกว่า 30 ชนิด ซื้อกับเจ้าประจำเชื่อถือได้มาขาย

ต้นหอม เมื่อซื้อมาจะนำมาล้างด้วยน้ำเปล่า 1 รอบ แล้วมัดเป็นกำ ขายกำละ 10 บาท ยืนยันว่า ไม่เคยเจอผักชุบสีมาก่อน แม้จะเป็นข่าว แต่ลูกค้ายังซื้อปกติ

 

ไทยพีบีเอสได้ข้อมูลจากเกษตรกรคนหนึ่ง แหล่งปลูกต้นหอมแหล่งใหญ่ จะอยู่ที่จ.กาญจนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี เพชรบุรี และราชบุรี ที่ผ่านมาฝนตกชุก ความชื้นสูง เกษตรกรจำเป็นต้องใช้สารเคมีกลุ่ม Copper หรือ สารฆ่าเชื้อราฝุ่นทองแดงชนิดผงละลายน้ำ เป็นสารป้องกันกำจัดโรคพืชที่เกิดจากแบคทีเรียและเชื้อรา มีทั้งแบบสีเขียวและสีฟ้า

เก็บตัวอย่างตรวจสอบ-คาดอาจเป็นฮอร์โมนกำจัดรา

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนกลับไปเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา มีคลิปภาพที่ทำให้เห็นว่า มีคราบสีฟ้าอยู่ตามใบต้นหอม นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ พูดถึงข้อสังเกตว่าอาจจะมีการพ่นสีบนต้นหอมให้ดูเขียวสดว่า แทบจะเป็นไปไม่ได้ ที่ผู้ค้าหรือเกษตรกรจะมาเสียเวลาพ่นสีกับผักพื้นบ้าน และสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นสารเคมีทางการเกษตรตกค้างมากกว่า

 

อาจารย์ยกตัวอย่างสารเคมีที่น่าจะเป็นไปได้ 2 ตัว คือ โปรพิเน็บ สารกำจัดเชื้อรา และ คอปเปอร์ ไฮดร็อกไซด์ สารกำจัดเชื้อราอนินทรีย์ เป็นปุ๋ยเม็ดสีฟ้า ซึ่งถ้ารับประทานเข้าไปเพียงเล็กน้อย ก็คงไม่เป็นอะไร แต่ถ้าร่างกายได้รับในปริมาณมาก ก็อาจจะเป็นอันตรายได้ ซึ่งสมมุติฐานนี้ค่อนข้างตรงกับเกษตรกรที่ให้ข้อมูลกับไทยพีบีเอส 

 

ด้านน.ส.พัชรี ภู่มาลี ตำแหน่งนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่ตรวจสอบ และนำตัวอย่างต้นหอมส่งไปให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง ตรวจสอบว่าสารที่ติดมากับต้นหอม เป็นสารที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ เพื่อให้รู้ว่าเป็นสารเคมี สารชีวภาพ หรือเป็นฮอร์โมนตามที่แม่ค้าได้รับแจ้งมาจากต้นทางแหล่งจำหน่าย เพื่อความสบายใจทั้งของผู้ค้าและผู้บริโภค

 

 

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง