เปิด "วอร์รูมฝุ่น" ตั้งเป้าลดปัญหาร้อยละ 20

Logo Thai PBS
เปิด "วอร์รูมฝุ่น" ตั้งเป้าลดปัญหาร้อยละ 20
"วราวุธ" Kick off เปิดศูนย์การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รับมือฝุ่น PM2.5 ช่วงวิกฤต เล็งหารือ 4 กระทรวงรับลูกตั้งเป้าลดปัญหาร้อยละ 20 เตรียมพร้อมใช้แอปพลิเคชั่น "Burn Check" ครั้งแรกของประเทศ บริหารจัดการการชิงเผาอย่างเป็นระบบ

วันนี้ (4 พ.ย.2563) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมบอร์ดสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง พ.ศ.2563 และแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง โดยจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า ล่าสุดกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดศูนย์การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ช่วงวิกฤติ ที่อาคารทส. พร้อมทั้งตั้งทีมโฆษกทำหน้าที่สื่อสารฝุ่น 3 คน โดยมีหน้าที่เทียบกับการแถลงสถานการณ์ COVID-19 ของศบค.

 สำหรับการตั้งเป้าลดปัญหาฝุ่นให้การลดปัญหาร้อยละ 20 ในกทม.อาจจะนับจำนวนวันที่เกินมาตรฐาน ส่วนภาคเหนือจะวัดจากจุดความร้อนที่ลดลง

ส่วนที่ว่ามีปัญหาการประสานงานระหว่างหน่วยงานหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า ทางทส.เป็นหน่วยงานปลายทาง และมีอำนาจในบทบาทที่ตัวเองมีอยู่เท่านั้นไปบังคับใครไม่ได้ หลังจากนี้จะนำแผนเชิงรุกของทส.ไปพูดคุยกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขอความร่วมมือไปยังกระทรวงเหล่านี้ 

 

กระทรวงเหล่านี้มีอำนาจหน้าที่โดยตรง ทส.ไม่ใช่การโยนภาระงาน เพราะถ้ามีแผนแล้วไม่ปฏิบัติตาม และฝุ่นยังวิกฤต ต้องถามกลับไปว่าทำไมถึงไม่ทำ หากมีสถานการณ์ฉุกเฉินจริงก็คงต้องใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีว่าติดขัดปัญหาอะไร 

ตั้งเป้าจุดความร้อนลดลงร้อยละ 20 

ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า จากการถอดบทเรียนปัญหาปีที่ผ่านมามี 3 แนวทางหลักที่จะแก้ปัญหาเชิงรุก คือการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทางแหล่งกำเนิด และใช้เทคโนโลยีการศึกษาวิจัย คณะอนุกรรมการด้านวิชาการแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศ ภายใต้บอร์ดสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ควบคู่กับการผลักดันใช้แผนเฉพาะกิจ 12 มาตรการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือ ครอบคลุมทั้งด้านการสื่อสารสร้างการรับรู้ การบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า การสร้างเครือข่ายอาสาสมัครฯ การใช้เทคโนโลยีสนับสนุนเรื่องการพยากรณ์ฝุ่นละออง การประเมินปริมาณฝุ่นละอองเชิงพื้นที่ และการถ่ายโอนภารกิจการควบคุมไฟป่าให้กับ อปท.

 

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังเปิดตัวการใช้แอปพลิเคชัน "Burn Check" เพื่อลงทะเบียนชิงเผา และบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เกษตรกรรม ด้วยการให้เกษตรกรลงทะเบียนกระจายการเผาไม่ให้กระจุกตัว จนเกิดมลพิษหมอกควันขึ้นกระทบสุขภาพประชาชน เพราะไม่อยากให้เกิดการเผาพร้อมๆ กันทั้งในเขตป่าและนอกเขตป่า เมื่อไม่สามารถปฏิเสธการเผาได้จำเป็นต้องบริหารจัดการการเผาอย่างเป็นระบบ โดยในเดือนพ.ย.นี้จะขอให้กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯเข้าช่วยกำจัดเชื้อเพลิงในเขตป่าร่วมกับชุมชนเสี่ยงทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ

คาดหวังว่ามาตรการเชิงรุกนี้ จะส่งผลให้จำนวนจุดความร้อนใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.–31 พ.ค.2564 ลดลงอย่างน้อยร้อยละ 20

สำหรับการประชาสัมพันธ์ข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาด้านมลพิษเพื่อให้ประชาชนรับรู้ จะมีสำนักนายกรัฐมนตรีจะช่วยผลักดันสร้างการรับรู้ไปยังหน่วยงานต่างๆ และประชาชนให้เข้าใจถึงผลกระทบจากฝุ่นละออง PM2.5 ขณะที่กรมประชาสัมพันธ์จะช่วยประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาผ่านสื่อโทรทัศน์ สื่อวิทยุ และสื่อออนไลน์ต่างๆด้วย โดยเฉพาะการแจ้งเตือน SMS ให้กับประชาชนทันทีที่ระดับฝุ่นเกินมาตรฐาน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

บอร์ดสิ่งแวดล้อม เคาะ 12 มาตรการแก้ PM 2.5 จ่อชง ครม.

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง