"มายด์ ภัสราวลี"เข้ารับทราบข้อกล่าวหา คดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี

อาชญากรรม
5 พ.ย. 63
10:07
6,454
Logo Thai PBS
"มายด์ ภัสราวลี"เข้ารับทราบข้อกล่าวหา คดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี
น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล (มายด์) เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 ในคดีที่ตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ ออกหมายเรียกผู้ร่วมชุมนุม หน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค.

วันนี้ (5 พ.ย.63) น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล (มายด์) แกนนำกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ โดยมี พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) มาตรวจสอบความเรียบร้อย ในคดีที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทุ่งมหาเมฆ ออกหมายเรียกในฐานความผิด ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้าง กระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามมาตรา 116 และข้อหาอื่น ๆ

คดีนี้ตำรวจรวบรวมพยานหลักฐานการกระทำความผิด ทั้งเอกสาร วิดีโอ และภาพถ่าย พร้อมออกหมายเรียก น.ส.ภัสราวลี และพวกรวม 5 คน กรณีร่วมชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา

น.ส.ภัสราวลี ยืนยัน ไม่กังวลเรื่องคดีความและเข้าใจว่า ตำรวจทำกระบวนการยุติธรรมแต่ทั้งนี้ ส่วนตัวขอให้การปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา เพราะเชื่อมั่นว่า การชุมนุมที่ผ่านมาไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย ส่วนการรายงานตัวในคดีนี้ เป็นคดีที่ 4 ที่ถูกดำเนินคดีโดยทุกคดีปฏิบัติตามกระบวนการกฎหมายครบทุกคดีแล้ว

ด้านนายศุภณัฐ บุญสด ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ทีมทนายความเตรียมยื่นข้อโต้แย้ง ที่จะให้การต่อตำรวจเพื่อชี้ให้เห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้เป็นการก่อความวุ่นวายแต่อย่างใด

ภายหลังใช้เวลาในการให้ปากคำกับตำรวจนาน 3 ชม. น.ส.ภัสราวลี ยืนยันให้การปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหา พิมพ์ลายนิ้วมือและให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ในการประกันตัว โดยพนักงานสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนนัดฟังคำสั่งคดีอีกครั้งในวันที่ 8 ธ.ค. เวลา 09.30 น.

นอกจากนี้ น.ส.ภัสราวลี ยังเห็นว่า แนวคิดเกี่ยวกับการตั้งคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ฯ เป็นการซื้อเวลา รัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา และการเจรจาพูดคุยผ่านคนกลางไม่สามารถที่จะหาข้อสรุปได้ ดังนั้น ส่วนตัวจึงไม่ขอเข้าร่วมกับคณะกรรมการชุดนี้ แต่เสนอแนะให้รัฐบาลใช้ช่องทางการสื่อสาร เทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อรับฟังปัญหาของกลุ่มที่เห็นต่างทางการเมือง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง