ไร้เงานักท่องเที่ยว เกาะสมุยยังมีขยะวันละ 90 ตัน ช่วง COVID-19

Logo Thai PBS
ไร้เงานักท่องเที่ยว เกาะสมุยยังมีขยะวันละ 90 ตัน ช่วง COVID-19
นักวิจัย AIT สำรวจขยะบนสมุย หลัง COVID-19 พบผลิตขยะวันละ 90 ตัน ลดลงจากช่วงปกติ 50 ตัน เป็น "ขยะเปียก- พลาสติก" สูงสุด หลังจากคุ้ย-คัด-แยก ขยะจากต้นทาง เตรียมต่อยอดงานวิจัยสร้างเครื่องมือแก้ปัญหาขยะล้นเกาะที่ทำได้จริง

วันนี้ (7 พ.ย.2563) ทีมนักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ลงพื้นที่สำรวจขยะรอบเกาะสมุย หลังปิดเกาะเพราะ COVID-19 นานร่วม 6 เดือน เพื่อรวบรวมข้อมูลขยะที่ถูกผลิตขึ้นบนเกาะอย่างละเอียด ทั้งปริมาณและประเภทของขยะจากชุมชนต่างๆ ซึ่งเป็นต้นทางของขยะ ก่อนถูกส่งไปบ่อขยะ (landfill) พบภาพรวมของขยะทั้งเกาะเป็นขยะเปียก (organic waste) มากที่สุด กว่าร้อยละ 50

ขณะที่ขยะพลาสติก (plastic waste) ตามมาเป็นอันดับ 2 ส่วนปริมาณขยะที่ถูกเก็บ ณ บ่อขยะรวมต่อวัน ช่วงปิดเกาะไร้นักท่องเที่ยวอยู่ที่ราว 90-100 ตัน ลดลงจากช่วงเวลาปกติประมาณ 50 ตัน และลดลงจากช่วงไฮซีซั่นประมาณ 100 ตัน เตรียมนำข้อมูลเชิงลึกไปวิเคราะห์เพื่อคิดค้นเครื่องมือแก้ปัญหาขยะล้นเกาะที่ตรงจุดได้ผลจริง และแปรรูปขยะบางประเภทให้เป็นรายได้สู่ชุมชน ด้านคนสมุย เตรียมปรับตัวสร้างการท่องเที่ยวท้องถิ่นแบบยั่งยืน

นายธนพัฒน์ จันทร์สระคู หนึ่งในทีมนักวิจัยสถาบัน AIT กล่าวว่า โครงการ “การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดการขยะมูลฝอยและขยะประเภทอื่นๆ ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนบนเกาะสมุย” ภายใต้สาขาวิชาการจัดการขยะพลาสติกทางทะเล (MPA) และวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมฯ (EEM) โดยการลงพื้นที่เดือน ต.ค.2563 ที่ผ่านมา เป็นการเก็บข้อมูลปริมาณขยะและประเภทขยะตามต้นทาง ซึ่งเป็นแหล่งสร้างขยะที่แท้จริง กระจายไปพื้นที่ต่างๆ รอบเกาะ


โดยทีมวิจัยแบ่งตามประเภทการใช้ประโยชน์จากที่ดิน คือ ตลาด, บ้านพักอาศัย, เกษตรกรรม, ชายหาด และ พื้นที่โรงแรมและบริการ แตกต่างจากการไปเก็บตัวอย่างจากบ่อขยะเพียงแหล่งเดียว ซึ่งเป็นปลายทาง เช่น การสำรวจขยะบริเวณตลาดเจริญลาภ พบว่ามีขยะเปียกมากที่สุด ขณะที่เส้นเลียบหาดเฉวง ซึ่งเป็นพื้นที่โรงแรม ท่องเที่ยว ในช่วงเวลาที่สำรวจพบว่ามีขยะพลาสติกมากกว่าขยะประเภทอื่น ทั้งนี้ การได้ข้อมูลของประเภทขยะที่ผลิตมากที่สุดในแต่ละพื้นที่ช่วยให้การนำไปต่อยอดคิดค้นเครื่องมือ และออกแบบเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาขยะบนเกาะสมุยได้เฉพาะเจาะจงและเห็นผลขึ้น

 

ออกแบบการจัดการขยะด้วยเทคโนโลยี

ด้าน นายพีรวิชญ์ จันทร์ตา หนึ่งในทีมนักวิจัยสถาบัน AIT กล่าวว่า ได้ไปเก็บขยะพื้นที่ที่ใช้จริง และเห็นว่าแต่ละพื้นที่ มีองค์ประกอบของขยะที่ไม่เหมือนกัน เป็นประโยชน์ที่ทำให้เรารู้ว่าจะสามารถดึงเทคโนโลยี หรือเครื่องมือแบบไหนมาใช้ได้ดียิ่งขึ้น เช่น จุดที่พบขยะเปียกมากที่สุด ก็ต้องออกแบบว่าควรใช้วิธีกำจัดอย่างไร การใช้นำขยะเปียกมาทำเป็นเชื้องเพลิง (Refuse Derived Fuel: RDF) คงไม่เหมาะสม แต่อาจทำเป็นปุ๋ย ซึ่งมีคนสมุยจำนวนหนึ่งทำอยู่แล้ว งานวิชาการจะมาสนับสนุนคนบนเกาะให้ใช้ประโยชน์จากขยะเปียกที่มีมากที่สุดให้กว้างขวาง และช่วยออกแบบเทคโนโลยีในการทำปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

บางจุดพบขยะพลาสติกมากที่สุด ก็ต้องมาคิดต่อว่าจะใช้วิธี RDF หรือจะเป็นการรีไซเคิล ต้องมาคำนวณให้ละเอียดจากชนิดพลาสติกและความคุ้มค่า คุ้มทุนในการใช้แต่ละวิธี

ทีมนักวิจัย อธิบายว่า การศึกษาขยะบนเกาะสมุยในช่วงยังไม่เปิดเกาะเต็มรูปแบบ และยังไม่มีนักท่องเที่ยวมากนัก นับเป็นช่วงเวลาที่ดี ซึ่งจะทำให้ทีมวิจัยได้ข้อมูลขยะที่เกือบทั้งหมดสร้างขึ้นโดยคนสมุย ไม่ใช่ประชากรแฝง หรือ นักท่องเที่ยว การนำข้อมูลขยะมาชี้ให้คนในพื้นที่เห็นจะชัดเจนและนำไปสู่การร่วมกันแก้ปัญหาได้มากขึ้น ทั้งการลดขยะ และนำขยะมาสร้างประโยชน์รูปแบบต่างๆ แทนที่การขนขยะจำนวนมากออกไปทิ้งนอกเกาะเพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกันเกาะสมุยนับเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการศึกษาปัญหาขยะที่ดี เพราะเป็นพื้นที่ปิด ขยะที่พบเกือบทั้งหมดเป็นขยะที่ผลิตขึ้นบนเกาะ ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริง

จากข้อมูลเดือน ก.พ.2563 ระบุว่า จำนวนคนบนเกาะสมุย แบ่งเป็น ผู้ที่มีภูมิลำเนา หรือมีทะเบียนบ้านบนเกาะสมุย ประมาณ 70,000 คน ประชากรแฝง ประมาณ 300,000 คน และนักท่องเที่ยวประมาณ 3,000 คนต่อวัน

หวังปรับการจัดการขยะช่วงปิดรับนักท่องเที่ยว

ด้าน ษมาภรณ์ บุญสา ชาวเกาะสมุย กล่าวว่า การลงพื้นที่เก็บข้อมูลอย่างละเอียดโดยทีมนักวิจัย เป็นเรื่องดีที่จะทำให้คนสมุยได้ข้อมูลขยะในพื้นที่ชัดเจนขึ้น ทั้งยังเป็นข้อมูลที่ชาวบ้านเข้าถึงได้ง่าย และรู้ว่าขยะแต่ละประเภทมาจากไทย พื้นที่ไหนผลิตขยะอะไรเยอะที่สุด ที่ผ่านมารู้ว่าช่วงปิดเกาะมีขยะ 90 ตันต่อวัน แต่ไม่รู้ว่าใน 90 ตันนั้นมีขยะอะไรบ้าง

ถ้าเรานำสิ่งนี้มาสื่อสารและบอกว่าตอนนี้พลาสติกมีเยอะ เราจะลดปริมาณอย่างไร จะนำไปสู่การปฎิบัติที่ง่าย ช่วงนี้คนที่ไม่มีงานทำเยอะ ก็จะเห็นช่องทางว่าขยะพลาสติกขายได้ แยกออกมาแล้วก็เป็นรายได้ ตอนนี้เป็นช่วงที่ไม่มีนักท่องเที่ยว มีแต่คนสมุยล้วนๆ การเริ่มจัดการขยะในสมุยก็เป็นสิ่งที่เกิดได้ หากมีคนกล้าลุกขึ้นมาผลักดัน


ทั้งนี้ หลังจากได้ข้อมูลตัวเลขปริมาณขยะ และประเภทของขยะนำมาวิเคราะห์อย่างละเอียด ทีมวิจัยจะนำมาประมวลผล เพื่อออกแบบวิธีแก้ปัญหาขยะ รวมถึงแนวทางสร้างเครื่องมือ และเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ๆ ใช้ในการเพิ่มมูลค่าให้กับขยะ สร้างรายได้รูปแบบใหม่ให้ชุมชน เป็นธุรกิจสีเขียวของคนบนเกาะ โดยจะนำโครงการไปเสนอขอทุนเพิ่มเติมจาก Alliance to End Plastic Waste (AEPW) องค์กรไม่แสวงหากำไรที่สนับสนุนการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม เพื่อนำทุนมาสร้างเครื่องและพัฒนาเทคโนโลยี เข้าไปติดตั้งและทดลองใช้แก้ปัญหาขยะบนเกาะสมุย โดยคาดว่าจะสามารถนำเสนอโครงการให้กับ AEPW ได้ภายในสิ้นปี 2563 นี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง