"บีโอไอ" ออกมาตรการใหม่ผลักดันนโยบายรถไฟฟ้า

เศรษฐกิจ
9 พ.ย. 63
12:16
2,178
Logo Thai PBS
"บีโอไอ" ออกมาตรการใหม่ผลักดันนโยบายรถไฟฟ้า
ที่ผ่านมา รัฐบาลอนุมัติมาตรการส่งเสริม ยานยนต์ไฟฟ้าในไทยมาแล้วหลายมาตรการ แต่การใช้งานและการผลิตในไทยยังไม่มากนัก ล่าสุด ได้มีการออกมาตรการใหม่เพื่อจูงใจและผลักดันให้มีการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น มาตรการเหล่านี้คาดว่าจะส่งผลมากน้อยเพียงใด

เชื่อว่าหลายคนเล็งอยู่ว่าซื้อรถคันต่อไป เป็นรถที่ใช้ไฟฟ้าดีหรือไม่ ซึ่งที่มีความลังเลอาจมีหลายเหตุผล เช่น ไม่ค่อยมีใครใช้ ใช้แล้วจะมีปัญหาหรือไม่ เสียใครซ่อม ขับไประหว่างทางชาร์จที่ไหน หรืออยู่คอนโดมิเนียม ชาร์จยังไง วนเวียนอยู่อย่างนี้ รัฐบาลกำลังเปิดแนวทางเร่งผลักดันให้ยานยนต์ไฟฟ้าแจ้งเกิดในไทยจริงๆ เสียที

 

 

คงต้องมองไปที่เป้าหมายโรดแมปการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่รัฐบาลเรียกว่า 30-30 นั่นคือปี 2030 และ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหมายถึงปี 2030 พ.ศ.2573 การผลิตรถในไทยทั้งหมดจะต้องมียานยนต์ไฟฟ้า 30 เปอร์เซ็นต์ เช่น ผลิต 1 ล้านคัน ควรมีสัดส่วนเป็นรถประเภทใช้ไฟฟ้า 3 แสนคัน แต่ในปัจจุบัน ตัวเลขยังคงห่างไกลเป้าหมายอยู่มาก การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงเคาะแนวทางออกมา เพื่อเป็นหนึ่งในวิธีที่จะไปถึงเป้าหมาย

เพิ่มสิทธิทางภาษีครอบคลุมรถเล็ก

มาตรการที่ออกมา คือการให้สิทธิประโยชน์กับการขอส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า มุ่งเน้นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่เป็นหลัก หรือ BEV แต่หากลงทุนระดับ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป อาจผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม คือไฮบริดหรือปลั๊กอินไฮบริดควบคู่ได้ และมีการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เริ่มต้น 3 ปี และหากลงทุนเพิ่ม เช่น วิจัยพัฒนา หรือผลิตชิ้นส่วนสำคัญของรถในไทย ก็เพิ่มสิทธิทางภาษีเพิ่มไปอีก สูงสุด 8 ปี

 

 

ทั้งนี้ หากเป็นการให้สิทธิประโยชน์ครั้งก่อน จะให้เฉพาะรถยนต์ 4 ล้อ และรถขนาดใหญ่ แต่ครั้งนี้ขยายครอบคลุมรถเล็กประเภทอื่น เช่น รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่น่าสนใจ คือสามล้อไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ เข้าข่ายขอยื่นรับการส่งเสริมการลงทุนได้ แต่ต้องผลิตได้มาตรฐานความปลอดภัย

 

 

นอกจากนี้ ยังรวมถึงชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า และยังรวมถึงการผลิตเรือไฟฟ้า สามารถยื่นขอได้เช่นกัน ถ้าย้อนไปดูการส่งเสริมการลงทุนรถไฟฟ้าช่วงปี 2560-2562 ได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว 26 โครงการ กว่า 78,000 ล้านบาท 7 โครงการขายเชิงพาณิชย์แล้วในหลายยี่ห้อ แต่เทียบกับผลที่ต้องการนั้นยังห่างไกล

ปริมาณยานยนต์ไฟฟ้าสะสมยังน้อย

รถยนต์ไฟฟ้าที่ส่งเสริมการลงทุนไปรอบก่อน ส่วนใหญ่จะลงทุนโรงงานภายในปี 2564-2565 แม้ระยะหลังอัตราการเพิ่มขึ้นของยานยนต์ไฟฟ้าจะมีความคืบหน้ามากขึ้น บางปีขยายขยายหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าสะสมยังมีอย่างจำกัด ตัวเลขล่าสุด เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2563 มีประมาณ 180,000 คันเท่านั้น ต่างจากรถยนต์บนท้องถนนที่มีกว่า 40 ล้านคัน

 

 

การออกมาตรการใหม่เป็นความหวังทางค่ายรถยนต์ ปัจจุบัน ไทยมีรถไฟฟ้าหลายรุ่น ราคารถยนต์ไฟฟ้า BEV มีราคาแพง ต่ำสุดประมาณคันละ 1.1 ล้านบาท ทำให้เข้าถึงยาก แต่เชื่อว่าเทคโนโลยีแบตเตอรี่ได้พัฒนาทุกปี ทำให้ราคาลดลง ซึ่งหากราคาลงมาแตะที่ระดับไม่เกิน 8 แสนบาทต่อคัน จะใกล้เคียงรถยนต์ใช้น้ำมัน จะทำให้ใช้รถ BEV แพร่หลายขึ้น มาตรการบีโอไอจะช่วยลดต้นทุนได้บ้าง

หลายตัวแปรแจ้งเกิดรถไฟฟ้าในไทย

น่าสนใจที่รัฐบาลพยายามผลักดัน แต่การให้รถไฟฟ้าแจ้งเกิด ตัวแปรอยู่ที่ความยากของการสร้างความต้องการ โดยรัฐบาลเองทำอย่างไร จะทำให้ค่ายรถยนต์มองว่ามีความต้องการรถประเภทนี้มากๆ เพื่อหันมาลงทุนในไทย มีค่ายรถและบริษัทผลิตพลังงานที่เคยมีความร่วมมือระหว่างกัน ถ้าซื้อรถ สามารถเติมไฟฟ้าจากปั๊มน้ำมันใกล้บ้านได้ เป็นแพลตฟอร์มแบบหนึ่งที่เคยจัดสร้างขึ้นมา แต่จนถึงตอนนี้ก็ดูจะเงียบๆ ไปจากโควิด-19

 



ถ้ามีตัวเลือกมากแข่งขันกันมาก ท่ามกลางความต้องการใช้งาน เชื่อว่าราคาเอื้อมถึงจะเกิดขึ้น คงต้องตีโจทย์ให้แตกว่าจะทำให้รถไฟฟ้าแจ้งเกิด ทำได้อย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง