ชนิดใหม่โลก! ฟอสซิล "ปลาปอด" 150 ล้านปี จากแหล่งภูน้อย

สิ่งแวดล้อม
11 พ.ย. 63
13:40
4,666
Logo Thai PBS
ชนิดใหม่โลก! ฟอสซิล "ปลาปอด" 150 ล้านปี จากแหล่งภูน้อย

กรมทรัพยากรธรณี พบซากฟอสซิลปลาปอด ชนิดใหม่ของโลกตั้งชื่อ เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป อายุ 150 ล้านปีจากแหล่งภูน้อย จ.กาฬสินธุ์ พบชิ้นส่วนกะโหลก-แผ่นฟันที่หายากในระดับโลก

วันนี้ (11 พ.ย.2563) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่ากรมทรัพยากรธรณี ได้เปิดผลการศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดชนิดใหม่ของโลก เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป ถูกค้นพบที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย จ.กาฬสินธุ์ จัดเป็นปลาโบราณที่พบมาตั้งแต่ 417 ล้านปี  ซึ่งเป็นผลการศึกษาวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญด้านซากดึกดำบรรพ์ปลา Dr.Lionel Cavin พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเจนีวา ร่วมกับ ดร.อุทุมพร ดีศรี อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิท ยา และศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ดร.พรเพ็ญ จันทสิทธิ์ นักธรณีวิทยาชำนาญการ พิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณี

โดยฟอสซิลปลาปอดที่พบบริเวณภูน้อย จัดอยู่ในสกุลเฟอกาโนเซอราโตดัส แต่มีความแตกต่างจากชนิดอื่น ตั้งชื่อเฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป  (Ferganoceratodus annekempae) เพื่อเป็นเกียรติแก่นาย Anne Kemp ผู้เชี่ยวชาญปลาปอดของโลก 

ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

 

สำหรับชิ้นส่วนซากฟอสซิลปลาปอดที่ค้นพบ ประกอบด้วย ชิ้นส่วนของกะโหลกและแผ่นฟัน คาดเป็นชิ้นส่วนจากปลาตัวเดียวกัน ณ แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ เพราะปลาปอดจัดเป็นปลาโบราณที่พบปรากฏมาเมื่อ 417 ล้านปี หรือในยุคดีโวเนียนแล้วยังคงพบในปัจจุบัน แต่ซากฟอสซิลปลาปอดที่พบครั้งนี้มีอายุประมาณ 150 ล้านปี ลักษณะของปลาปอด คือ สามารถหายใจด้วยปอดร่วมกับการหายใจด้วยเหงือก ครีบอกและครีบท้องมีลักษณะเป็นเนื้อหุ้ม ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ดแบบคอสมอยด์ ฟันมีลักษณะเป็นแผ่นฟัน

ซากฟอสซิลปลาปอดสกุลเฟอร์กาโนเซอราโตดัส ถือเป็นซากฟอสซิลหายาก โดยเฉพาะส่วนกะโหลก ที่ผ่านมาสกุลนี้พบในจีน รัสเซีย และไทยเท่านั้น จึงความสำคัญต่อการศึกษาวิวัฒนาการและถิ่นอาศัยในอดีตของปลาปอดของโลก
ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

แหล่งภูน้อยพบซากฟอสซิลของโลก

นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ซากฟอสซิลในชั้นหิน เป็นเสมือนสมุดบันทึกที่บ่งบอกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลกในอดีตกาล เป็นบันทึกที่มีการเรียงร้อยเรื่องราวที่อุบัติขึ้นตามลำดับเวลาที่บันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละเฉพาะพื้นที่ของโลก จึงมีความสำคัญในการศึกษาธรณีวิทยาด้านการลำดับชั้นหินและธรณีประวัติ

ผลการวิจัยสำคัญต่อการศึกษาวิวัฒนาการและถิ่นอาศัยในอดีตของปลาปอดของโลก และเป็นหลักฐานแสดงถึงความหลากหลายชีวภาพของแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย อยู่ในพื้นที่ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ อยู่ในหมวดหินภูกระดึง กลุ่มหินโคราช ยุคจูแรสซิกตอนปลาย มีอายุ 150 ล้านปี พบ New Species ของสัตว์มีกระดูกสันหลังร่วมสมัย 6 สายพันธุ์ใหม่ของโลก คือ ฉลามน้ำจืด ปลากระดูกแข็ง ปลาปอด เต่า และจระเข้ ถือเป็นแหล่งซากฟอสซิลที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก และเป็นแหล่งที่มีการค้นพบซากฟอสซิลกระดูกสันหลังมากที่สุดในไทยกว่า 5,000 ชิ้น

ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เป็นซากฟอสซิลไดโนเสาร์ และยังพบซากร่วมสมัยอื่นๆ ได้แก่ ฉลามน้ำจืด ปลากระดูกแข็ง ปลาปอด เต่า จระเข้ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เทอโรซอร์ จึงถือเป็นพื้นที่ที่ทรงคุณค่าทางวิชาการ 
ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

ไทยพบฟอสซิลสกุลใหม่ของไทย-โลก 595 ชนิด

ปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณี ได้ประกาศให้พื้นที่ภูน้อยเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนของประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2563 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 ขณะที่งานวิจัยจากกรมทรัพยากรธรณี ค้นพบซากฟอสซิลชนิดและสกุลใหม่ของไทยและของโลกรวม 595 ชนิด (สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง 333 ชนิด สัตว์มีกระดูกสันหลัง 110 ชนิด พืช 48 ชนิด และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอื่น ๆ 104 ชนิด) เช่น ฟอสซิล “แม่เมาะซิออน โพธิสัตย์ติ” หรือหมาหมี อายุ 13 ล้านปี พบที่เหมืองถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง พบในปี 2549 ฟอสซิลอุรังอุตัง “เอปโคราช” อายุ 9-7 ล้านปี พบที่อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ฟอสซิล “ไฮยีนาลายจุด” อายุ 200,000–80,000 ปี พบที่ถ้ำเขายายรวก จ.กระบี่ และฟอสซิลไดโนเสาร์สายพันธุ์ไทย  12 สายพันธุ์

 

ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

ภาพ:กรมทรัพยากรธรณี

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง