แกะรอย "พรานล่านกเปล้า" นกหายากป่าเชียงใหม่

สังคม
12 พ.ย. 63
12:15
873
Logo Thai PBS
แกะรอย "พรานล่านกเปล้า" นกหายากป่าเชียงใหม่
กลุ่มอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา จับมือกรมอุทยานฯเร่งแก้ปัญหาพรานป่าลักลอบล่านกเปล้า นกหายากในบัญชีอนุรักษ์ ในพื้นที่ป่ารอยต่อ อ.สันทราย และอ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ หลังเจอร่องรอยถูกฆ่าใต้ต้นไทรสุก

นกเปล้า เป็นหนึ่งในนกหายาก และอยู่ในบัญชีนกอนุรักษ์ พบอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่ารอยต่อ อ.สันทราย และอ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ แต่ที่น่าห่วงคือร่องรอยของการล่านกชนิดนี้ เพื่อนำไปประกอบอาหาร ทำให้คนในชุมชนต้องลุกขึ้นมาดูแลอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้นกสูญพันธ์ุ

นายอายุวัต เจียนวัฒนกนก กรรมการชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา บอกว่าขนนกที่พบ มีทั้งนกเปล้าธรรมดา นกเปล้าขาเหลือง และนกเปล้าหน้าเหลือง ถือเป็นนกหายากในพื้นที่ภาคเหนือ เนื่องจากถูกล่าและที่อยู่อาศัยถูกทำลาย ทำให้นกเปล้า ถูกบรรจุอยู่ในบัญชีนกอนุรักษ์ด้วย

 

ตอนนี้ที่เจอนกเปล้าเป็นฝูงมากกว่า 50 ตัวยอมรับว่าเซอร์ไพรส์ เพราะไม่เคยเจอมาก่อน ช่วงนี้ลูกไทรสุกทำให้มีนกมากินลูกไทรสุก แต่ก็เสี่ยงเพราะไปเป็นฝูงใหญ่ ถ้าทังฝูงถูกล่าก็หมดโอกาสขยายประชากร 

ข่าวการล่านกเปล้า ทำให้กลุ่มนักดูนก ให้ความสนใจเดินทางมาดูนกเปล้าหายาก โดยหวังว่ากระแสการอนุรักษ์จะช่วยป้องกันการล่านก ขณะที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 จะจัดเจ้าหน้าที่เข้ามาลาดตระเวนอย่างสม่ำเสมอ

 

นายมณเฑียร บุญช้างเผือก ผู้ใหญ่บ้านป่าสักงาม และประธานกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาบ้านป่าสักงามบอกว่า ชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ป่า กว่า 70,000 ไร่มาอย่างยาวนาน ก่อนจะประกาศเป็นพื้นที่อุทยาน และป่าสงวน ทำให้ผืนป่ามีความอุดมสมบูรณ์

ผู้ใหญ่บ้านป่าสักงาม กล่าวว่า การล่านกไม่ใช้ฝีมือของชาวบ้านในพื้นที่ เพราะต่างรักและหวงแหนธรรมชาติ คาดว่าผู้ที่ล่านก น่าจะนำไปประกอบอาหารตามวิถีชีวิตดั้งเดิม จากนี้จะช่วยกันสอดส่องดูแล และป้องกันการลักลอบล่านก

นกมีความสำคัญใกล้สูญพันธุ์ ต้องดึงชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์มากกว่านี้ ต่อไปจะขออนุญาตกรมอุทยานฯ เข้าสำรวจต้นไม้ในป่าพร้อมกับเจ้าหน้าที่ดูว่าต้นไม้แต่ละชนิดอยู่ที่ไหน เพื่อให้ชาวบ้านเกิดความรักและหวงแหน

ผู้ใหญ่บ้านป่าสักงาม ยังเตรียมนำข้อมูลการพบนกหายากในพื้นที่ เข้าที่ประชุมอำเภอ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับฝ่ายปกครอง และ ในอนาคตจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชมนก ในชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน เพื่อเป็นหนึ่งในแนวทางสร้างความรักความหวงแหนต่อธรรมชาติให้มากขึ้น

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง