ผลตรวจเป็นลบกลุ่มเสี่ยง 50 ราย ใกล้ชิดทหารเกาหลีใต้ป่วยโควิด

สังคม
12 พ.ย. 63
12:02
343
Logo Thai PBS
ผลตรวจเป็นลบกลุ่มเสี่ยง 50 ราย ใกล้ชิดทหารเกาหลีใต้ป่วยโควิด
ผลการตรวจหาเชื้อทหาร 50 นาย ที่สัมผัสใกล้ชิดทหารเกาหลีใต้ที่ติด COVID-19 ผลเป็นลบ ขณะนี้ยังคงกักตัวต่อเจ้าหน้าที่สอบสวนโรคพบว่าผู้ติดเชื้ออยู่แต่ในโรงแรมไม่ได้ออกไปพื้นที่ภายนอก ขณะที่ จ.ระยอง ขอประชาชนในพื้นที่อย่าตื่นตระหนก

กรณีนายทหารเกาหลีใต้ที่เดินทางเข้าร่วมประชุมฝึกผสมคอบบราโกลด์ 21 ที่ จ.ระยอง ตรวจพบเชื้อ COVID-19 หลังเดินทางกลับไปเกาหลีใต้ ขณะนี้กรมควบคุมโรคอยู่ระหว่างเริ่มสอบสวนโรค เบื้องต้น จ.ระยอง ขอให้ประชาชนในพื้นที่อย่าตื่นตระหนกต่อสถานการณ์

ประเทศไทยได้รับการประสานจากทางการเกาหลีใต้ว่านายทหารเกาหลีใต้ที่เดินทางมาฝึกการวางแผนขั้นสุดท้าย การฝึกผสมคอบบร้าโกลด์ 21 ที่ จ.ระยอง ตรวจพบเชื้อ COVID-19 หลังเดินทางกลับถึงเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา

ขณะนี้ กรมควบคุมโรคอยู่ระหว่างการสอบสวนโรคเพื่อสรุปจำนวนกลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ รวมถึงรอประสานผลการตรวจเชื้อจากเกาหลีใต้เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และระยะเวลาในการติดเชื้อ

 

ด้านนายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เปิดเผยว่า ทหารเกาหลีใต้คนนี้เข้ารับการกักตัวใน ASQ 14 วัน ที่กรุงเทพมหานคร ก่อนจะเข้าพักโรงแรมแห่งหนึ่งใน ต.พลา อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เบื้องต้นการสอบสวนโรคพบว่า ทหารที่ร่วมประชุมใกล้ชิดกับทหารเกาหลีใต้จำนวน 50 นาย หน่วยงานสาธารณสุขได้ทำเก็บตัวอย่างเชื้อส่งตรวจแล้วผลการตรวจพบว่าเป็นลบทั้ง 50 นาย

นอกจากนี้ ได้มีการกักตัวทหาร 50 นาย ซึ่งถือกลุ่มเสี่ยงสูงที่อาคารเรือนรับรองสัตหีบ ตั้งแต่วันที่ 8-21 พ.ย.2563 เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนในพื้นที่เกิดการแตกตื่นหรือตื่นตระหนกมากเกินไป นอกจากนี้ยังเฝ้าระวังบุคลากรโรงแรมใน จ.ระยอง อีก 28 คน ซึ่งถือเป็นกลุ่มความเสี่ยงต่ำโดยให้เฝ้ากสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด

เบื้องต้นไม่พบว่าทหารเกาหลีใต้คนนี้ไปเดินทางท่องเที่ยวหรือแวะพักผ่อนในเขตเมืองระยอง จึงเชื่อว่าโอกาสในการแพร่กระจายของเชื้อคงเป็นไปได้ยากมาก

นายจักรินทร์ บัวสุวรรณ์ กำนันตำบลพลา ระบุว่า ชาวบ้านบางส่วนมีความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจ และเดินแจกหน้ากากอนามัย และสิ่งจำเป็นในการป้องกันโรคแก่ชาวบ้าน พร้อมชี้แจงไม่ให้ตื่นตระหนกจนเกินไป

แนะล้างมือทันทีหลังรับพัสดุ

ส่วนประเด็นที่มีรายงานในต่างประเทศพบการติดเชื้อ COVID-19 ผ่านการสัมผัสสิ่งของ พัสดุ ที่จัดส่งผ่านระบบขนส่ง นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนว่าหากมีการสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบขนส่งเมื่อรับแล้วให้รีบล้างมือหรือหากเป็นไปได้ให้ทำความสะอาดสิ่งของที่รับมาด้วยแอลกอฮอล์ และสวมหน้ากากทุกครั้งเมื่อออกไปรับของจากพนักงานส่งสินค้า

ส่วนในระยะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูหนาวแล้วอาจทำให้ป่วยเป็นไข้หวัดได้ง่าย ซึ่งไข้หวัดและโรค COVID-19 จะมีอาการใกล้เคียงกันมาก ขอให้ทุกคนเฝ้าระวังสังเกตอาการป่วยของตนเองและคนรอบข้างอยู่เสมอ โดยเฉพาะหากป่วยด้วยอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีอาการระบบทางเดินหายใจ ลิ้นไม่รับรสหรือจมูกได้กลิ่นลดลง

ภายหลังเดินทางไปในที่ชุมชน สถานที่แออัด ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาทันที

เคสต้องสงสัยติดเชื้อในไทย

ในช่วงเกือบ 1 เดือน พบเคสต้องสงสัยติดเชื้อในประเทศไทยติดกันหลายเคส แม้จะเป็นเคสเดี่ยวแต่ก็น่าสนใจว่านี่เป็นสัญญาณการระบาดในประเทศหรือไม่

กรณีทหารเกาหลีใต้ ที่เดินทางกลับจากการฝึกร่วมคอบบร้าโกลแล้วตรวจเชื้อพบที่เกาหลีใต้ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้รับข้อมูลมาเบื้องต้นตอนนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลสอบสวนโรค ซึ่งก็ยังไม่ฟันธงว่าเป็นการติดเชื้อในประเทศหรือไม่ ยังต้องรอผลตรวจโดยละเอียดอีกที ซึ่งผลที่ตรวจสอบจะบอกถึงช่วงเวลาติดเชื้อได้ ดังนั้นเบื้องต้นก็ยังไม่ฟันธงว่าเป็นการติดเชื้อในประเทศหรือไม่

ข้อมูลที่ พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า มีทหารเกาหลีใต้ 1 นาย ติดเชื้อ COVID-19 ภายหลังการเข้าร่วมประชุมวางแผนขั้นสุดท้ายการฝึกผสมคอบร้าโกลด์ 21 ระหว่างวันที่ 3-5 พ.ย.ที่ผ่านมา การประชุมจัดขึ้นที่โรงแรมแห่งหนึ่งใน อ.บ้านฉาง จ.ระยอง มีทหารเข้าร่วมทั้งหมด 202 นาย เป็นทหารไทย 177 นาย ทหารต่างชาติ 25 นาย คือ ทหารอเมริกัน 12 นาย เกาหลีใต้ 5 นาย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ประเทศละ 2 นาย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ประเทศละ 1 นาย

 

กิจกรรมส่วนใหญ่อยู่ในห้องประชุมแบ่งเป็น 5 กลุ่มย่อย กลุ่มละ 40 นาย รับประทานอาหารกลางวันและอาหารเย็นร่วมกันเป็นแบบบุฟเฟ่ต์ ซึ่งทหารต่างชาติทุกนายได้ตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง โดยทั้งหมดไม่พบเชื้อ หลังกักตัว 14 วัน

ส่วนทหารเกาหลีใต้นั้นตรวจก่อนเดินทางจากเกาหลีใต้ ไม่พบเชื้อ และมีการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง คือวันที่ 22 ต.ค. และ 29 ต.ค. ระหว่างพักใน ASQ โดยเขาเดินทางเข้าไทยตั้งแต่วันที่ 17 ต.ค. เข้าพักที่ ASQ ในกรุงเทพมหานคร และกักตัวจนถึงวันที่ 1 พ.ย.

 

หลังกักตัวครบ 14 วัน ได้ย้ายไปพักโรงแรมแห่งหนึ่งย่านสุขุมวิท และรับประทานอาหารเย็นที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง โดยสวมใส่หน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่าง วันที่ 2 พ.ย. รถตู้ของสถานทูตมารับไปโรงแรมที่จัดประชุมใน จ.ระยอง โดยพักร่วมห้องกับทหารเกาหลีใต้ 1 นาย

หลังการประชุมแล้วเสร็จ วันที่ 6 พ.ย. เดินทางกลับโดยรถของสถานทูตมายังโรงแรมย่านสุขุมวิท

วันที่ 7 พ.ย. ยังพักอยู่ในโรงแรม วันที่ 8 พ.ย. เดินทางโดยรถของสถานทูตไปสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเดินทางกลับเกาหลีใต้ และไปตรวจพบเชื้อที่สนามบินอินชอน เมื่อวันที่ 9 พ.ย.

 

พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ยังไม่ยืนยันว่าเคสนี้ เป็นการติดเชื้อที่ไทย เพราะยังต้องรอผลตรวจเพิ่มเติมจากเกาหลีใต้อยู่ ส่วนสโคปกลุ่มเสี่ยง ทั้งในกรุงเทพและระยอง ตอนนี้อยู่ระหว่างรวบรวม ซึ่งก็รวมถึงทหารไทยและทหารต่างชาติ ที่จะต้องประสานผ่านกฎอนามัยระหว่างประเทศด้วย

ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ยังไม่คอนเฟิร์มเรื่องการติดเชื้อในประเทศ นพ.ธีระ วรธนารัตน์ มองถึงความเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง คือ ติดเชื้อในไทยหรือเป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ ซึ่งต้องรอผลการตรวจปริมาณเชื้อ การตรวจแอนติบอดีก่อน แต่ประเมินแล้วว่าน่าจะเป็นการติดเชื้อในประเทศ

 

ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา นพ.ธีระ มองว่าสัญญาณการระบาดในประเทศชัดเจนขึ้นมาก โดยถ้าเทียบกับประเทศอื่นจะพบว่าหลังเปิดหรือแง้มประตูประเทศ จะพบเคสในช่วง 4-6 สัปดาห์ โดยกรณีของไทยก็คล้ายกัน คือในกรณีของดีเจที่เป็นผู้ต้องขัง ที่พบการติดเชื้อช่วงเดือน ก.ย. ซึ่งก็จะตรงกับช่วงประมาณ 6 สัปดาห์ หลังเริ่มแง้มให้กลุ่มเป้าหมาย 11 กลุ่มเข้ามาได้และถ้าเทียบเคียงกับต่างประเทศ หลังพบเคสแรก ในช่วง 6 สัปดาห์ต่อมาก็จะมีรายงานการระบาดซ้ำ ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับของไทย นพ.ธีระ มองว่า น่าจะเป็นกรณีหญิงไทยที่กักตัวครบเวลา แล้วไปตรวจพบเชื้อที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และยังมีเคสหญิงฝรั่งเศสเมื่อเดือนที่แล้ว

การพบผู้ที่น่าจะติดเชื้อในประเทศที่บางเคสยังไม่ชัดเจนถึงต้นตอเมื่อไหร่กันบ้าง

เหตุการณ์แรกคือช่วงต้นเดือน ก.ย. ที่พบผู้ต้องขังชาย อาชีพดีเจ พบเชื้อตอนเป็นผู้ต้องขังแรกรับ จากการสอบสวนโรคไม่พบผู้สัมผัสใกล้ชิดติดเชื้อ ยังไม่พบต้นตอ

ต่อมาเป็นการตรวจเชิงรุก ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก พบชาวเมียนมา 2 คน เป็นสามีภรรยากัน ไม่มีประวัติเดินทางออกนอกแม่สอด แต่มีประวัติลูกชายเดินทางมาเยี่ยมจากเมียนมา ตรวจเพิ่มเติมพบสมาชิกครอบครัวติดอีก 3 คน ยังไม่รวมกรณีเด็กชาวเมียนมาวัย 2 ขวบที่พบเชื้อ แต่กรณีนี้หาไม่พบหลักฐานบ่งชี้ชัดเจนว่าติดเชื้อมนไทยและไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติม

อีกเหตุการณ์ คือ กรณีหญิงชาวฝรั่งเศสที่พบเชื้อที่เกาะสมุย วันที่ 23 ต.ค. ทั้งที่กักตัวครบ 14 วันแล้ว ค่อนข้างชัดว่าเป็นการติดเชื้อในไทยแต่ยังระบุต้นตอชัดเจนไม่ได้

ที่ยังตรวจสอบอีกกรณี คือชายชาวอินเดียที่เปิดเผยเมื่อสุดสัปดาห์ว่าพบเชื้อที่กระบี่ แต่ตรวจสอบแอนติบอดี้ เชื่อได้ว่าติดเชื้อมานานแล้ว และตรวจคนรอบข้าง รวมทั้งภรรยาไม่พบการติดเชื้อเพิ่มเติม

จากนั้นก็กรณีเมื่อวันจันทร์ ที่พบนักการทูตฮังการีติดเชื้อในประเทศ แต่กรณีนี้ทราบต้นตอชัดเจนว่ามาจากรัฐมนตรีที่ตรวจพบเชื้อ

จากข้อมูลที่พบยังไม่รวมกรณีที่ชายชาวมาเลเซีย กลับจากไทยแล้วตรวจพบเชื้อนะคะ ซึ่งเท่ากับว่าตอนนี้กรณีที่พบการติดเชื้อในประเทศ พบต้นตอน้อยกว่าที่ยังไม่พบต้นตออย่างชัดเจน เรื่องนี้ นพ.ธีระ มองว่ามีสัญญาณการติดเชื้อเงียบๆ ในประเทศ

 

การหาต้นตอให้พบเป็นสิ่งสำคัญเพื่อคุมการระบาด แต่ว่าก่อนหน้านี้ทางกระทรวงเองก็มีแผนการณ์ไว้เช่นกัน ว่ามีโอกาสจะเกิดการระบาดใน 3 รูปแบบ ตั้งแต่พบติดเชื้อ 1-2 ราย แล้วคุมได้ พบติดเชื้อกลุ่มเล็กๆ 10-20 ราย แล้วคุมได้ในเวลาไม่เกิน 3-4 สัปดาห์ และกรณีคุมได้ช้าอาจมีการระบาด 100-200 คน เหมือนกรณีสนามมวยซึ่งคาดว่าจะไม่เกิดแบบนี้ หากประชาชนให้ความร่วมมือป้องกันตัวเอง

แต่สำหรับทางเลือกเพื่อป้องกันการระบาดซ้ำในมุมของ นพ.ธีระ คือขยายการตรวจเชื้อลงไปในชุมชุน เพราะจะช่วยให้ติดตามสถานการณ์ได้ง่ายกว่า โดยหลังจากนี้มีความเป็นไปได้ที่ผู้ติดเชื้อจะผุดขึ้น คล้ายดอกเห็ดในหน้าฝน และระยะเสี่ยงตามการประเมินของ นพ.ธีระ คือ ช่วงกลางเดือนนี้เป็นต้นไป ดังนั้นการป้องกันตัวเองให้ดีที่สุดจึงจำเป็นมาก

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง