สหภาพฯค้านใช้รถเมล์ ขสมก.ขวางผู้ชุมนุม ชี้สูญรายได้ 3.6 แสน

การเมือง
12 พ.ย. 63
12:47
1,872
Logo Thai PBS
สหภาพฯค้านใช้รถเมล์ ขสมก.ขวางผู้ชุมนุม ชี้สูญรายได้ 3.6 แสน
สหภาพแรงงาน ขสมก.แถลงคัดค้านการใช้รถเมล์ขวางผู้ชุมนุม เผยตำรวจนำรถเมล์ไปใช้แล้ว 3 ครั้ง 121 คัน รถเมล์เสียหาย 3 คัน สูญเสียรายได้กว่า 3.6 แสนบาท เล็งฟ้องศาลปกครองขอคุ้มครองห้ามนำรถเมล์ไปขวางผู้ชุมนุม หวั่นทรัพย์สินเสียหาย

วันนี้ (12 พ.ย.63) นายบุญมา ป๋งมา ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) แถลงข่าวคัดค้านการนำรถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ไปปิดถนน เพื่อขวางทางไม่ให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล หรือสถานที่ต่าง ๆ ตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมประกาศตามสถานการณ์ในแต่ละครั้ง ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้ประชาชนหลงเชื่อหรือเข้าใจผิดว่า ขสมก.ร่วมกับฝ่ายการเมือง วางตัวไม่เป็นกลาง ทำให้เสียภาพลักษณ์ตามมา

 

นายบุญมา เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทุกครั้งสภาพแรงงาน ขสมก.ไม่เห็นด้วย และมีการทำหนังสือถึง ผอ.ขสมก.และ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แล้วถึงเจตนาการไม่เห็นด้วย เนื่องจาก ขสมก.เป็นรัฐวิสาหกิจ มีวัตถุประสงค์ในการรับขนคนโดยสารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์ดังกล่าว และจะทำให้ประชาชนหลงเชื่อหรือเข้าใจผิดว่า ขสมก.เข้าร่วมกับฝ่ายการเมือง วางตัวไม่เป็นกลาง ทำให้เสียภาพลักษณ์ผิดวัตถุประสงค์ในการจัดตั้ง เนื่องจากที่ผ่านมาตำรวจได้ขอการสนับสนุนการนำรถเมล์ไปสกัดผู้ชุมนุมทั้งหมด 3 ครั้ง จำนวน 121 คัน แบ่งเป็น วันที่ 14 ต.ค.63 จำนวน 22 คัน, วันที่ 25 ต.ค.63 จำนวน 44 คัน และ วันที่ 8 พ.ย.63 จำนวน 55 คัน

 

ทั้ง 3 ครั้ง ทำให้รถเมล์ได้รับความเสียหายทั้งหมด 6 คัน แบ่งเป็นวันที่ 14 ต.ค.จำนวน 1 คัน, วันที่ 25 ต.ค.จำนวน 2 คัน และ วันที่ 8 พ.ย.จำนวน 3 คัน โดยได้รับความเสียหาย ทั้งกระจกบังลมหน้าแตกเสียหาย สีถลอก และที่ปัดน้ำฝนชำรุด ส่งผลทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการซ่อมแซมรถที่ได้รับความเสียหายจำนวนมาก เพราะรถเมล์มีอายุใช้งานมากกว่า 30 ปี อะไหล่ เริ่มหายากและใช้เวลาในการนำเข้าจากต่างประเทศ

 

ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย รวมทั้งยังทำให้เสียหายอื่น ๆ ตามมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นตามสัญญาปัจจุบัน ขสมก. ต้องจ่ายค่าเหมาซ่อมในราคา 1,401 บาทต่อคันต่อวัน ค่าจีพีเอส 30 บาทต่อคันต่อวัน ค่า PSO ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนในการเดินรถ กม.ละ 38 บาทต่อคัน ค่าจ้างพนักงาน 800 บาทต่อวัน รวมทั้งค่าเสียหายที่จะได้จากค่าโฆษณา

 

ขณะเดียวกันในช่วงที่นำรถเมล์มาสกัดผู้ชุมนุมยังพบว่า ขสมก. เสียโอกาสในการเดินรถ ทำให้สูญเสียรายได้ รวมทั้งหมด 363,000 บาท แบ่งเป็นวันที่ 14 ต.ค.63 จำนวน 22 คัน มีรายได้ 66,000 บาท หรือเฉลี่ยคันละ 3,000 บาท, วันที่ 25 ต.ค.63 จำนวน 44 คัน มีรายได้ 132,000 บาท และ วันที่ 8 พ.ย.63 จำนวน 55 คัน มีรายได้ 165,000 บาท

 

สำหรับกรณีที่รถเมล์ได้รับความเสียหายจากการนำไปสกัดผู้ชุมนุมนั้น ยืนยันว่า ตำรวจจะต้องเป็นผู้ที่จ้ายค่าซ่อมรถเมล์ที่ได้รับความเสียหาย ไม่ใช่ว่าถ้าต้องการให้ซ่อม ขสมก.ต้องไปฟ้องผู้ชุมนุมเรียกค่าเสียหายเอง โดยมองว่า ตำรวจเป็นผู้ขอความร่วมมือให้ สนับสนุนรถเมล์ทั้งหมด และหนังสือที่ขอความร่วมมือตำรวจจะต้องดูแลทรัพย์สินขององค์การ เพราะฉะนั้นตำรวจจะเป็นต้องเป็นผู้จ่ายค่าเสียหาย

 

ถ้าอนาคตตำรวจขอความร่วมมือจาก ขสมก. สนับสนุนรถเมล์เพื่อไปสกัดผู้ชุมนุมอีกจะเดินหน้าไปยื่นศาลปกครอง เพื่อขอให้คุ้มครองไม่ให้นำรถเมล์ไปใช้ในกรณีดังกล่าวอีก ขณะนี้กำลังพิจารณารวบรวมข้อมูลว่าสามารถกระทำได้ตามข้อกฎหมายหรือไม่

พร้อมยืนยันว่า ขสมก. มีความเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และเมื่อเกิดกรณีแบบนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความปลอดภัยของพนักงาน ขสมก. ที่ปัจจุบัน ขสมก. จะมีความถนัดเรื่องการให้บริการ แต่ไม่มีความรู้เรื่องการป้องกันตนเองหรือวิธีการรับมือเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม ทำให้มีความเสี่ยงมาก” นายบุญมากล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง