"คนละครึ่ง" คึกคัก! ร้านค้าทยอยร่วม หลังเศรษฐกิจซบเซามานาน

เศรษฐกิจ
13 พ.ย. 63
11:07
1,487
Logo Thai PBS
"คนละครึ่ง" คึกคัก! ร้านค้าทยอยร่วม หลังเศรษฐกิจซบเซามานาน
ร้านค้าตลาดย่านถนนวิภาวดีรังสิต ทยอยลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ "คนละครึ่ง" หลังบรรยากาศประชาชนจับ จ่าย ใช้ สอย ผ่านแอปฯ เป๋าตังกันอย่างคึกคัก หวังเพิ่มยอดขาย ฟื้นตัวหลังเศรษฐกิจซบเซา บางร้านเข้าร่วมแล้วยอดขายพุ่ง ชี้เป็นมาตรการช่วยร้านรายย่อยอย่างแท้จริง

วันนี้ (13 พ.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศตลาดย่านถนนวิภาวดีรังสิต เป็นไปอย่างคึกคัก หลังกระทรวงการคลังเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนโครงการ "คนละครึ่ง" รอบเก็บตกจำนวน 2.3 ล้านสิทธิ เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการสำเร็จเลือกไปจับจ่ายใช้สอยครั้งแรกก่อนวันที่ 25 พ.ย.นี้


ผู้ประกอบการร้านขายน้ำผลไม้ปั่น ระบุว่า สมัครเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งตั้งแต่กระทรวงการคลังเปิดให้ลงทะเบียนในรอบแรก ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี ยอดขายเพิ่มขึ้นหลายสิบแก้วต่อวัน จากเดิมที่เงียบเหงาในช่วง COVID-19 ก็กลับมาขายได้คึกคักอีกครั้ง

รอบแรกคนมาใช้สิทธิเยอะมาก ขายดีมากๆ เพราะช่วงนั้นร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการน้อย แต่ครั้งนี้ร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมแทบทุกร้าน แต่ก็ถือว่ายอดขายยังดีอยู่


ผู้ประกอบการร้านขายน้ำผลไม้ปั่น ยอมรับว่า ถูกใจมาตรการคนละครึ่งของรัฐบาลมาก เพราะเป็นการช่วยเหลือร้านค้ารายย่อยอย่างแท้จริง ร้านเล็กๆ ได้ประโยชน์ มีรายได้เพิ่มขึ้น ลูกค้าก็มีความสุข กล้าซื้อ กล้าจ่ายกันมากขึ้นด้วย

ด้านผู้ประกอบการร้านน้ำเต้าหู้ กลับพบว่าลูกค้าเริ่มลดลงต่อเนื่อง หลังจากมีการเปิดโครงการคนละครึ่ง จึงทำให้ตัดสินใจจะไปดำเนินการเพื่อเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งในวันที่ 16 พ.ย.นี้ โดยหวังว่าจะมียอดขายเพิ่มมากขึ้นจากมาตรการดังกล่าว

ตอนแรกที่ไม่ลงทะเบียน เพราะคิดว่าน้ำเต้าหู้ราคาไม่กี่สิบบาท คนอาจจะไม่ได้สนใจราคามาก แต่กลายเป็นว่าร้านอื่นคนเข้าเยอะมาก หลังเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เดินเข้าตลาดมาทุกคนถือโทรศัพท์คนละเครื่อง ทั้งลูกค้า ทั้งแม่ค้า ส่วนร้านเราคนน้อยลงแบบเห็นได้ชัด

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ข้อมูลในวันที่ 11 พ.ย.2563 เวลา 12.00 น. มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 590,000 ร้านค้า และมีผู้ใช้สิทธิแล้วจำนวน 7,410,937 คน โดยมียอดการใช้จ่ายสะสม 11,889 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 6,059 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 5,830 ล้านบาท ยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 210 บาทต่อครั้ง โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และเชียงใหม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง