สรรพากรจ่อเก็บภาษี "แม่ค้าออนไลน์ - ยูทูบเบอร์ - อินฟลูเอนเซอร์"

เศรษฐกิจ
16 พ.ย. 63
06:24
6,542
Logo Thai PBS
สรรพากรจ่อเก็บภาษี "แม่ค้าออนไลน์ - ยูทูบเบอร์ - อินฟลูเอนเซอร์"
ผู้ค้าออนไลน์ ยูทูบเบอร์ และผู้มีอิทธิพลในโซเชียลมีเดีย อาจจะต้องเข้าสู่ระบบภาษี หลังจากกระทรวงการคลัง คงเป้าจัดเก็บรายได้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านล้านบาท โดยกรมสรรพากร คาดว่า จะจัดเก็บภาษีจากกลุ่มเป้าหมายนี้เป็นรายได้เข้ารัฐไม่น้อยกว่า 500,00 คน

วันนี้ (16 พ.ย.2563) กระทรวงการคลัง เตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ ในการประชุมวุฒิสภาฯ สัปดาห์หน้า หลังผ่านความเห็นในชั้นกรรมาธิการ สภาผู้แทนราษฎรแล้ว


นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า กฎหมายอี-เซอร์วิส กำหนดให้ธุรกิจในต่างประเทศที่ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ ให้บริการเชิงพาณิชย์ในไทย ต้องขึ้นทะเบียนเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีมีรายได้เกินปีละ 1,800,000 บาท เพื่อให้ความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการในประเทศ คาดว่า จะช่วยเพิ่มการจัดเก็บรายได้รัฐไม่น้อยกว่า 5 พันล้านบาท

จ่อเก็บภาษีปี 64 กว่า 5 แสนคน

นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังเร่งขยายฐานผู้เสียภาษีในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลธรรมดาที่ยังหลบเลี่ยงยื่นแบบแสดงรายได้เสียภาษี ที่คาดว่าจะมีมากกว่า 6 ล้านคน จากปัจจุบันบุคคลธรรมดาในฐานภาษี มีทั้งสิ้น 9,550,000 คน แต่รายได้ถึงเกณฑ์เสียภาษี เพียง 3 ล้านคน


ทั้งนี้ ในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนจำนวนมาก มีรายได้เสริมจากการทำธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งการขายสินค้าออนไลน์ การทำช่องในยูทูบ และผู้มีอิทธิพลในโซเชียลมีเดีย หรือ อินฟลูเอนเซอร์ จึงตั้งเป้าหมายดึงคนกลุ่มนี้เข้าระบบภาษี ในปีงบประมาณ 2564 ไม่น้อยกว่า 500,000 คน

คลังเตรียมแผนกู้เงินชดเชยขาดดุลงบฯ

ก่อนหน้านี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำชับให้กรมสรรพากร คงประมาณการณ์จัดเก็บรายได้ ในปีงบประมาณ 2564 ที่ 2 ล้านล้านบาท แม้เศรษฐกิจไทย ยังอยู่ในภาวะฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากสถานการณ์ COVID-19 หลังประเมินว่า กรมฯ มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้


อีกทั้งการดำเนินมาตรการกระตุ้นการบริโภค ทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน จะช่วยเพิ่มยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ได้เตรียมแผนเสนอคณะรัฐมนตรี กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ กรณีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายอีกครั้ง เหมือนปีงบประมาณ 2563 ซึ่งกู้เงินกรณีดังกล่าวจนเต็มเพดาน 214,000 ล้านบาท โดยพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 กำหนดวงเงินรายจ่าย 3.3 ล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 632,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐสามารถกู้เพิ่มได้อีก 1 แสนล้านบาท

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง