ส.ว.เสียงแตกรับหลักการร่างแก้ไขรัฐรัฐธรรมนูญ

การเมือง
16 พ.ย. 63
12:15
565
Logo Thai PBS
ส.ว.เสียงแตกรับหลักการร่างแก้ไขรัฐรัฐธรรมนูญ
ส.ว.บางส่วน แสดงจุดยืนรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอให้จัดตั้ง ส.ส.ร. และเชื่อว่ามีเสียง ส.ว.สนับสนุนมากกว่า 84 เสียงแล้ว ขณะที่ ส.ว.อีกส่วนยืนยันไม่เห็นชอบกับการจัดตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ควรแก้รายมาตรา

วันนี้ (16 พ.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ยืนยันจุดยืนเห็นชอบหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน เพื่อแก้ไขมาตรา 256 และจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ และเห็นชอบหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยฝ่ายค้าน ให้ตัดอำนาจ ส.ว.ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี

แต่ไม่เห็นชอบรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ เนื่องจากมีเนื้อหายกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้นิรโทษกรรมผู้กระทำผิด หรือที่กำลังต่อสู้คดี ไม่มีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต และหากยกเลิก ส.ว.ชุดปัจจุบันทันที จะทำให้รัฐสภาองค์ประกอบไม่ครบ ไม่สามารถพิจารณาร่างกฎหมายได้ รวมถึงอาจมีปัญหาในกระบวนการแปรญัตติในวาระ 2

คำนูณ สิทธิสมาน

คำนูณ สิทธิสมาน

คำนูณ สิทธิสมาน

 

เช่นเดียวกับนายวันชัย สอนศิริ ส.ว. ที่เชื่อว่าจะมี ส.ว.เห็นชอบรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกินว่า 84 เสียง ตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้ว พร้อมย้ำว่าการลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นจุดเริ่มต้นของการสมานฉันท์ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็เคยประกาศว่าสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และออกกฎหมายการออกเสียงประชามติเพื่อรองรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. ยังยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ญัตติที่เสนอโดย ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน และญัตติของไอลอว์ ที่เสนอให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เพื่อยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมีทั้งส่วนดีและไม่ดี จึงควรแก้ไขรายมาตรา ไม่ควรยกเลิกทั้งฉบับแล้วร่างขึ้นมาใหม่ และมองว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจดำเนินการตามคำวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญปี 2555

พล.อ.สมเจตน์ ยังไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอยกเลิกองค์กรอิสระ และการยกเลิกมาตรา 279 เกี่ยวกับการรับรองประกาศคำสั่ง คสช. ว่าอาจเป็นช่องว่างทำให้เกิดความขัดแย้ง และเป็นปัญหาทางกฎหมายในอนาคต รวมถึงไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกอำนาจ ส.ว.ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะเป็นบทเฉพาะกาลระยะเวลา 5 ปีเท่านั้น แต่หากจะยกเลิกก็ไม่ขัดข้อง แต่ต้องทำประชามติ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง