ภารกิจ “Crew-1” ส่ง 4 นักบินสู่อวกาศจากสหรัฐฯ ในรอบ 9 ปี

Logo Thai PBS
ภารกิจ “Crew-1” ส่ง 4 นักบินสู่อวกาศจากสหรัฐฯ ในรอบ 9 ปี
NASA จับมือ SpaceX เปิดฉากเที่ยวบินอวกาศเต็มรูปแบบกับภารกิจ “Crew-1” ส่งนักบินอวกาศ 4 คนไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) จากสหรัฐฯ ในรอบ 9 ปี เพื่อไปสมทบลูกเรือบน ISS ปฏิบัติภารกิจทดลองทางวิทยาศาสตร์ค้นหาแหล่งอาหารบนอวกาศอย่างยั่งยืน

วันนี้ (16 พ.ย.2563) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า เปิดฉากเที่ยวบินอวกาศเต็มรูปแบบครั้งแรกที่ถูกส่งขึ้นไปโดยบริษัทเอกชน จากความร่วมมือระหว่าง NASA และ SpaceX กับภารกิจ “Crew-1” ส่งนักบินอวกาศ 4 คนไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ในเช้าวันนี้ (ตามเวลาประเทศไทย) 

ตั้งแต่ NASA ได้ปลดประจำการโครงการกระสวยอวกาศไปเมื่อปี 2554 นับเป็นเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษที่ไม่มีนักบินอวกาศคนใดได้บินออกไปสู่อวกาศจากแผ่นดินของสหรัฐอเมริกา ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้นการส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ จะทำโดยจรวด Soyuz ของรัสเซีย เนื่องจาก NASA มีความต้องการที่จะผลักดันให้ภาคเอกชนมีบทบาทในอวกาศมากยิ่งขึ้น จึงผันบทบาทจากผู้ที่ผลิต พัฒนา และดำเนินการการบรรทุกสัมภาระและนักบินอวกาศ มาเป็นเพียงการว่าจ้างบริษัทเอกชนให้ผลิต พัฒนา และดำเนินการดังกล่าวแทน

สำหรับภารกิจ Crew-1 นับเป็นภารกิจอย่างเป็นทางการที่บรรทุกนักบินอวกาศขึ้นไปปฏิบัติภารกิจอย่างเต็มรูปแบบถึง 4 คน ได้แก่ ไมเคิล ฮอปกินส์ , วิกเตอร์ โกลฟเวอร์ , แชนนอน วอล์กเกอร์ และ โชอิจิ โนกูจิ ซึ่งเป็นนักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นจาก JAXA  ได้นั่งขึ้นไปกับจรวด Crew Dragon ของ SpaceX และจะใช้เวลา 27 ชั่วโมง ก่อนที่จะเข้าเทียบท่ากับสถานีอวกาศนานาชาติในเวลา 11.00 น. ของวันที่ 17 พ.ย.นี้ ตามเวลาประเทศไทย นับเป็นภารกิจแรกของอีกหลายๆ ภารกิจที่จะตามมาของระบบ Crew Dragon นี้


ภารกิจในการปล่อย Crew Dragon ในครั้งนี้ ล่าช้าไปหนึ่งวัน เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยจากพายุเฮอร์ริเคน Eta ทำให้จรวดนั้นคลาดตำแหน่งกับ ISS แทนที่จะใช้เวลาเพียง 8 ชั่วโมงในการเทียบท่าที่คาดการณ์ไว้แต่เดิม จึงต้องเปลี่ยนมาใช้เวลาถึง 27 ชั่วโมง

โอกาสเอกชนมุ่งลำเลียงมนุษย์ท่องเที่ยวอวกาศ

ภายใน Crew Dragon มีห้องสุขา และนักบินอวกาศสามารถพักผ่อนได้ เนื่องจากระบบการนำทางที่อัตโนมัติโดยสิ้นเชิง นักบินอวกาศทั้ง 4 ที่ขึ้นไปปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้จะขึ้นไปช่วยเติมเต็มลูกเรือบน ISS ที่ปฏิบัติภารกิจการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญหลายการทดลอง ตั้งแต่ผลกระทบของ microgravity ที่มีต่อเซลล์เนื้อเยื่อหัวใจ ไปจนถึงการทดลองปลูกหัวไชเท้าในอวกาศ เพื่อค้นหาช่องทางในการหาแหล่งอาหารอย่างยั่งยืนสำหรับภารกิจการสำรวจห้วงอวกาศไกลในอนาคต


ทั้งนี้ การเปลี่ยนภาระหน้าที่ในการลำเลียงมนุษย์ไปยังอวกาศสู่ภาคเอกชนนี้ นับเป็นก้าวแรกที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากเป็นการปลดภาระของ NASA เพื่อให้สามารถมุ่งเน้นความสนใจไปยังส่วนอื่นของการสำรวจอวกาศได้แล้ว การที่นักบินอวกาศเป็นเพียงผู้โดยสารของยานสำรวจที่ถือครองโดยภาคเอกชน ยังเป็นการเปิดช่องทางถึงความเป็นไปได้ที่ภาคเอกชนจะส่งนักท่องเที่ยวอวกาศผ่านระบบขนส่งเดียวกันกับที่ส่งนักบินอวกาศนาซาไปในอนาคต และอาจจะนำไปสู่การท่องเที่ยวอวกาศในทางการค้าที่มนุษย์ทุกคนเข้าถึงได้ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนั้นราคาค่าตั๋วต่อการขนส่งนักบินอวกาศโดย SpaceX นั้นอยู่ที่ประมาณไม่ต่ำกว่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง