"คลัง" ลงนามกู้เงิน ADB 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

เศรษฐกิจ
16 พ.ย. 63
12:26
738
Logo Thai PBS
"คลัง" ลงนามกู้เงิน ADB 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ก.คลัง ลงนามการกู้เงิน ADB วงเงิน 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากไวรัส COVID-19

วันนี้ (16 พ.ย.2563) ความคืบหน้ากรณีการกู้เงินจากธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563

ล่าสุด นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และ Mr.Hideaki Iwasaki ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย ประจำประเทศไทย ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้ COVID-19 Active Response and Expenditure Support Program วงเงิน 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ณ กระทรวงการคลัง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

ความร่วมมือทางการเงินระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ครั้งนี้ เป็นการดำเนินการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก. COVID-19)

ซึ่ง ADB ได้จัดเตรียมมาตรการทางการเงิน เพื่อให้การสนับสนุนแก่ประเทศสมาชิกในการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

โดยมีเงื่อนไขเงินกู้แบบผ่อนปรน ซึ่งสามารถนำไปสนับสนุนด้านงบประมาณให้แก่รัฐบาลของกลุ่มประเทศสมาชิกเพื่อดำเนินนโยบายและมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้มีการใช้เครื่องมือในการระดมทุนหลากหลายชนิด เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วสัญญาใช้เงิน การทำสัญญากู้เงิน และตั๋วเงินคลัง จากตลาดเงินในประเทศ เพื่อเป็นการระดมทุนสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินแผนงาน โครงการภายใต้ พ.ร.ก.COVID-19 ทั้ง 3 แผนงาน

ได้แก่ แผนงานที่ 1 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แผนงานที่ 2 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการฯ

และแผนงานที่ 3 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ โดยกระทรวงการคลังมีภารกิจในการบริหารและจัดการหนี้สาธารณะของประเทศ โดยการกู้เงินให้สอดคล้องและเพียงพอต่อความต้องการใช้จ่ายของรัฐบาล ภายใต้ต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม

เพื่อรักษาความยั่งยืนของฐานะการเงินการคลังของรัฐบาล รวมทั้งสอดคล้องกับสภาวะตลาด (Market Base) และป้องกันไม่ให้เกิดการแย่งชิงสภาพคล่องหรือทรัพยากรทางการเงิน (Crowding Out) กับภาคเอกชนซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการกู้เงินโดยรวมของประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง