เปิดตัว "โฆษก ศกพ." ด่านหน้าสื่อสารฝ่าวิกฤตฝุ่น

สิ่งแวดล้อม
16 พ.ย. 63
19:27
548
Logo Thai PBS
เปิดตัว "โฆษก ศกพ." ด่านหน้าสื่อสารฝ่าวิกฤตฝุ่น
กรมควบคุมมลพิษ ประกาศความพร้อมรับมือฝุ่น PM2.5 ปีนี้ พัฒนาแอปพลิเคชันจองเบิร์น ชิงเผา ลดฝุ่น และแอปฯ พยากรณ์ฝุ่นแจ้งเตือนล่วงหน้า 3 วัน พร้อมตั้ง "ศิวัช พงษ์เพียจันทร์" โฆษก ศกพ.คนแรก เกาะติด-สร้างความเข้าใจประชาชนในการรับมือฝุ่น

ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ "ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์" โฆษกศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) ที่เพิ่งเปิดตัว ทำหน้าที่รายงานสถานการณ์และทำความเข้าใจกับประชาชนให้พร้อมรับมือ PM 2.5 

แรงกดดัน "ด่านหน้า" แถลงสถานการณ์ฝุ่น

เตรียมใจไว้แล้วว่าเป็นเรื่องยาก แต่ตนเองเป็นนักวิชาการ (ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ) ที่จับเรื่องนี้มาโดยตรง และรับทุนรัฐบาลนาน 15 ปี ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมปลาย จนถึงปริญญาเอก เมื่อมีโอกาสช่วยประเทศชาติในสิ่งที่ตัวเองเชี่ยวชาญก็ต้องทำ

เป็นไฟต์บังคับที่จะช่วยเหลือประเทศชาติ ช่วยขยายความมุมมองจากนักวิชาการที่จับงานวิจัยด้านนี้โดยตรง ทำให้ประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับ PM2.5 อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

ปัญหาฝุ่น ไม่ใช่มีเพียงกรมควบคุมมลพิษที่เข้ามาดูแลและแก้ปัญหา แต่มีหลายหน่วยงานมาก ยกตัวอย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแลโดยตรงเรื่องของพันธุ์พืช, กรมอนามัย, กระทรวงพลังงานที่ต้องขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากยูโร 4 เป็นยูโร 5, กระทรวงคมนาคมเกี่ยวข้องแหล่งกำเนิดฝุ่น คือ การควบคุมมลพิษจากท่อไอเสีย เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM2.5 จึงถือเป็นกุญซื

วันแรก ทำหน้าที่รายงานสถานการณ์

ขณะนี้คุณภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ อยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก โดยเฉพาะภาคใต้ได้รับอิทธิพลลมบก ลมทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน แต่ที่น่ากังวลใจ คือ ภาคกลางบางจุดเริ่มมีการเผาแล้ว พบจุดความร้อน (Hotspot) ในบางส่วนของพื้นที่ที่ทำการเกษตร ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ต้องเฝ้าระวังบริเวณด้านตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเทพฯ เช่น บางพื้นที่ของ จ.สมุทรสาคร จ.นนทบุรี เริ่มมีค่าฝุ่น PM2.5 สูงขึ้น และคาดว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงวันที่ 18-19 พ.ย.นี้

แนวโน้มฝุ่นปี 2564

ปัจจัยที่ชัดเจนในปี 2564 คือ ปรากฏการณ์ลานีญามีแนวโน้มรุนแรงกว่าปี 2563 ทำให้ปริมาณฝนเพิ่มขึ้น และช่วยให้คุณภาพอากาศดีขึ้นกว่าปี 2563 อย่างไรก็ตาม มี 2 ปัจจัยหลักที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ คือ 1.ไม่แน่ชัดว่ามวลอากาศเย็น หรือความกดอากาศสูงจากจีนจะเคลื่อนเข้ามามากน้อยเพียงใดและอยู่นานเท่าใด เป็นปัจจัยสำคัญทำให้อากาศนิ่ง และระบายฝุ่น PM2.5 ไม่ดี 2.พฤติกรรมของคน หรือกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเผาพื้นที่ในเขตป่าสงวนและป่าอนุรักษ์จะมีความรุนแรงมากเพียงใดเมื่อเทียบกับต้นปี 2563

ยังไม่มีแบบจำลองใดสามารถทำนายพฤติกรรมของมนุษย์ได้ ตอนนี้ที่พัฒนาร่วมกัน เป็นการพยากรณ์เงื่อนไขทางอุตุนิยมวิทยาเท่านั้น แต่เงื่อนไขที่ทำให้เกิดฝุ่นมีทั้ง แหล่งกำเนิดที่ไม่นิ่ง อย่างการเผาเศษชีวมวล ไม่รู้ว่าพฤติกรรมของคนเป็นอย่างไร ยังลำบากในการคาดการณ์

เปิดไทม์ไลน์ "ฤดูฝน"

  • ปลายปีจนถึงต้นปี จะมีการเผาไร้อ้อย ฉะนั้นกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้มีปริมาณรถยนต์เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่มีปัญหาใหญ่ คือ ราคาอ้อยค่อนข้างดี และไทยส่งออกน้ำตาลเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก มีแรงจูงใจในเชิงเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่การเผาจะเกิดจากเกษตรกรที่มีรายได้ต่ำ ขาดเครื่องมือราคาแพงมาตัดอ้อย
  • ต้นเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ภาคเหนือ โดยเฉพาะ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน จะมีการเผาเพื่อหาของป่าและการเพาะปลูก 
  • ต่อมาอีก 2-3 เดือน หากมีปรากฏการณ์เอลนีโญ หรืออินเดียนโอเชียนไดโพล ภาคใต้ของไทยจะได้รับผลกระทบจากเพื่อนบ้าน เช่น การเผาที่เกาะกาลิมันตัน และดินพลุที่ดับไฟยากลำบาก
จุดพีคหนักประมาณปลายปีถึงต้นปีหน้า ส่วนภาคเหนือต้นกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม และจะดีขึ้นในช่วงเมษายน

"คนไทย" รับมืออย่างไร

ขณะนี้ประชาชนตื่นตัวกับเรื่องฝุ่นมากขึ้น ส่วนตัวทำงานวิจัยและเป็นอาจารย์ที่ศึกษาเรื่องมลพิษทางอากาศมานาน 10 กว่าปี เห็นชัดเจนว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนตื่นตัวอย่างมาก โดยเฉพาะภาคประชาชนที่ออกมาเรียกร้องเกี่ยวกับการแก้ปัญหาฝุ่น เช่น พ.ร.บ.อากาศสะอาด เป็นมิติใหม่ที่จะทำให้ไทยมีกฎหมายเฉพาะสำหรับการบริหารจัดการคุณภาพอากาศอย่างแท้จริง ซึ่งส่วนใหญ่ประเทศที่พัฒนาแล้วบังคับใช้กฎหมายนี้

ส่วนการสวมหน้ากากช่วยได้ในระดับหนึ่ง เพราะฝุ่น PM2.5 มีทั้งภายในและภายนอกอาคาร หากภายในอาคารมีเครื่องฟอกอากาศ หรือการจัดการที่ดีจะลดฝุ่นลงได้มาก

คนไทยมี New Normal ที่ต้องใส่หน้ากากจากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มาแล้ว เมื่อเกิดโควิดจึงไม่เกิดความขัดเขินที่ต้องใส่หน้ากากสักเท่าใด ทำให้ควบคุมโรคได้ดี

ความหวังลดแหล่งกำเนิด "ฝุ่น"

ต้องแยกก่อนว่าสิ่งใดที่ไม่สามารถทำได้เลย เพราะข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า พบว่า ร้อยละ70 ของจุดความร้อน ไม่ได้อยู่ในไทย สะท้อนว่าต่อให้ควบคุมบริหารจัดการแหล่งกำเนิดในประเทศได้ดีเพียงใด แต่ประเทศเพื่อนบ้านยังเผาอยู่ก็ทำอะไรไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือการตั้งรับ รับมือ และดูแลตัวเอง เป็นบทบาทของ ศกพ. เพื่อช่วยให้ประชาชนมีองค์ความรู้ในการรับมือฝุ่น เช่น แอปพลิเคชันคาดการณ์ล่วงหน้า 3 วัน ให้ข้อมูลประชาชนในการวางแผน และอาจงดทำกิจกรรมกลางแจ้งในบางวันที่ค่าฝุ่นสูง

อุดช่องโหว่ปีที่แล้ว?

รัฐบาลได้ดำเนินการ 4 มาตรการหลัก ได้แก่ 1.นำร่องสิทธิทำกิน เมื่อใดก็ตามที่คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ คนจะไม่เผาป่า ไม่มีใครทุบหม้อข้าวตัวเองเด็ดขาด และคนจะหวงแหนป่า ซึ่งสิทธิดังกล่าวไม่สามารถซื้อขายที่ดินได้ แต่เป็นการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางการเกษตร เป็นการนำร่องโดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยเตรียมนำเข้าสู่กระบวนทางกฎหมาย 2.การพัฒนาแอปพลิเคชันจาก 3 หน่วยงาน คือ กรมควบคุมมลพิษ จิสด้า และคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ที่ใช้ข้อมูลขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือองค์การนาซา คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้า 3 วัน ได้แม่นยำกว่าที่ผ่านมา 3.การพัฒนาแอปพลิเคชันวอร์รูม สั่งการผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ได้โดยตรง และ 4.การพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับหน่วยงานราชการ เรียกว่า จองเบิร์น ให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปชิงเผา ลดปริมาณเศษชีวมวล ที่เปรียบเหมือนระเบิดเวลารอวันปะทุ จนทำให้การควบคุมไฟป่าเป็นไปได้ยาก โดยอนุญาตเผาในช่วงที่คุณภาพอากาศดีเท่านั้น ไม่ให้เป็นการซ้ำเติมประชาชน

แอปฯ วอร์รูม จะทำให้การบริหารจัดการแบบซิงเกิลคอมมานด์มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผมคาดหวังว่าจะเห็นการจัดการมีประสิทธิภาพมากกว่าปีที่ผ่านมา จองเบิร์นต้องเราคิวเผาและสภาพอากาศต้องดี

เทียบความแม่นยำ "Air4thai" เครื่องวัดฝุ่นพกพา

ทุกอย่างมีจุดเด่นและจุดด้อย จุดเด่นของ Air4thai ใช้เครื่องมือที่มีราคาแพงมากหลักหลายแสนบาท ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง มาตรการฐานเดียวกับองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (USEPA) ทำให้มีความเสถียร แม่นยำ และคลาดเคลื่อนน้อย โดยใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง

ส่วนแอปพลิเคชันอื่น ๆ ที่ใช้เครื่องมือราคาถูกกว่า ทำให้มีการกระจายตัวหลายจุด ลูกค้าที่ซื้ออุปกรณ์ไปสามารถรายงานผลได้ด้วย ยกตัวอย่างใช้อุปกรณ์ขณะทำกับข้าว หรือถ้าใช้เซนเซอร์ PM2.5 ขณะอยู่ในร้านชาบู หมูกระทะ ก็จะทำให้ค่าความเข้มข้นขึ้นไปถึง 100-200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถือว่าเป็นจุดอ่อน อีกทั้งพบความคลาดเคลื่อนในการอ่านค่าสูง เช่น วันที่ฝนตกมากเป็นพิเศษ ค่าความชื้นสัมพัทธ์สูง

ดีคนละแบบ แต่ต้องรู้จักเลือกใช้ ดึงจุดเด่นของแอปพลิเคชัน คาดว่าในอนาคต Air4thai น่าจะพัฒนารายงานผลแบบเรลไทม์

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือนอีก 2 วันเตรียมรับฝุ่นระลอกใหม่ 

19 จุด! ฝุ่นพิษต้นฤดูหนักสุด "มหาชัย-ถนนกาญจนาภิเษก" 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง