เช็กเสียง! หลังรับ 2 ร่างแก้รธน.ปลายทางจบอย่างไร?

การเมือง
19 พ.ย. 63
16:38
1,077
Logo Thai PBS
เช็กเสียง! หลังรับ 2 ร่างแก้รธน.ปลายทางจบอย่างไร?
"จตุพร" ชี้โหวตลงมติรับแค่ 2 ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอาจไม่ลงเอยดี ห่วงถูกฉีกซ้ำปี 2540 และ 2550 ส่วน "วัฒนา" สอนม็อบชู 3 นิ้วต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง พร้อมเตือนอย่าละเมิดสิทธิหรือความเดือดร้อนผู้อื่น อาจส่งผลให้ผู้ชุมนุมลดลง

วันนี้ (19 พ.ย.2563) นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวถึงกรณีที่ประชุมร่วมรัฐสภา ลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพียง 2 ร่าง คือร่างของพรรคร่วมฝ่ายค้าน และพรรคร่วมรัฐบาล และไม่รับหลักการร่างที่ 3-7 ซึ่งรวมถึงร่างของไอลอว์ พร้อมตั้งคณะกรรมการธิการ 45 คน พิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 2 ว่า ไม่ว่าจะลงคะแนนอย่างไร เมื่อรู้ว่าเสียง 1 ใน 3 ไม่มีทางเป็นไปได้แล้ว การแสดงออกทั้งหมดก็เชื่อได้ว่า แม้จะผ่านร่างรัฐธรรมนูญวาระ 1 ทั้ง 2 ร่าง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะลงเอยแบบนั้น เพราะการแสดงจุดยืนของสมาชิกรัฐสภาบางคนก็สวนมติพรรคไม่รับทั้ง 7 ร่าง สวนฝั่งรัฐบาล รวมทั้งการโหวตของ ส.ว.

นายจตุพร กล่าวว่า ขอพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าว่ารัฐธรรมนูญ 2560 จะไม่ได้รับการแก้ไขโดยเด็ดขาด เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ที่จะถูกฉีกทั้งที่สามารถแก้ไขได้ง่ายกว่านี้

การให้มวลชนทั้งสองฝ่ายปะทะกัน ก็จะเป็นเงื่อนไข เพราะแบบของรัฐธรรมนูญถูกออกมาตั้งแต่ต้นว่าไม่ได้มีไว้เพื่อให้สามารถแก้ไขได้ แต่มีไว้เพื่อส่งให้คณะรัฐประหารชุดใหม่ เพื่อฉีกรัฐธรรมนูญ

อ่านข่าวเพิ่ม เช็กผลทางการ 7 ร่างแก้ รธน. "ผ่าน-ไม่ผ่าน" ตั้ง กมธ.45 คน

"วัฒนา"โหวตรับ 2 ร่างเป็นไปตามคาด

นายวัฒนา เมืองสุข สมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Watana Muangsook ระบุว่า การที่รัฐสภาลงมติรับหลักการการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวม 2 ฉบับ เพื่อตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ไม่ได้ทำให้แปลกใจ เพราะยืนยันมาตลอดว่าร่างของเราที่ขอตั้ง ส.ส.ร. มีความสมบูรณ์และจะผ่าน

ส่วนร่างอื่นๆ จะไม่ผ่านจนต้องทะเลาะกับคนในพรรค และเพื่อนต่างพรรคที่กดดันให้เสนอแก้ไขมาตราอื่นเพื่อปิดโน่นปิดนี้ด้วย เพราะเห็นแต่แรกว่าเปลืองแรงและเสียเวลาเปล่า

สิ่งที่น่ายินดีคือการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดขึ้นตามครรลอง ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศ ส่วนร่างขอแก้ไขอีก 5 ฉบับไม่ผ่านการพิจารณาโดย ส.ส. ส่วนใหญ่ที่มาจากการเลือกตั้งไม่ลงมติให้นั้น ยอมรับได้ ส่วนที่ยังมีผู้ชุมนุม และไม่พอใจการลงมติ เห็นว่าผู้ชุมนุมควรต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นเช่นกัน เพราะหาก ส.ส.เหล่านั้นลงมติโดยฝืนความรู้สึกของประชาชนทั้ง ส.ส. และพรรคการเมืองนั้นจะถูกลงโทษโดยประชาชนในการเลือกตั้งครั้งต่อไปเอง

ชี้ผู้ชุมนุมต้องไม่สร้างความเดือดร้อน-ไม่งั้นคนหาย 

สิ่งที่จะเรียกร้องคือ ขอให้ทุกฝ่ายยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสันติ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรอบนี้จบแล้ว ส่วนที่ยังมีคนพยายามปั่นกระแสหลอกต้มชาวบ้านว่าร่างทั้ง 2 ฉบับที่ผ่านรัฐสภาไม่สามารถแก้ไขได้ครบทุกเรื่องก็บิดเบือน เพราะการยกเว้นไม่แก้หมวด 1 และ 2 นั้นไม่ใช่หลักการ จึงสามารถแปรญัตติเพื่อให้ ส.ส.ร. แก้ไขได้ทุกหมวดอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่หากเห็นด้วยก็แก้ไขได้ทุกเรื่อง

แต่หากยังมีการชุมนุมก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลและรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุม สุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน เพราะหากการชุมนุมขาดความชอบธรรม หรือทำความเดือดร้อนให้กับคนส่วนใหญ่ ผู้ร่วมชุมนุมก็จะลดลงและจะไม่ได้รับการสนับสนุน แต่รัฐบาลต้องไม่ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งหรือมองอีกฝ่ายเป็นศัตรู เพราะเราไม่สามารถบังคับให้ทุกคนคิดเหมือนกันได้ ส่วนตัวไม่เคยออกไปชุมนุมแต่ลูก กลับไปชุมนุมแทบทุกนัด

ปปช.ขอบคุณสมาชิกเชื่อเดินหน้าแก้รธน.

ขณะที่นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การลงมติในวาระ 1 ทั้ง 2 ร่างถือว่าเป็นอีกก้าวที่สำคัญในเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งจุดยืนพรรคนำโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ประกาศไว้ชัดเจนตั้งแต่เข้าร่วมรัฐบาล คือ การแก้มาตรา 256 ให้มีการจัดตั้ง ส.ส.ร. ต้องถือว่าประสบความสำเร็จมาอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญ โดยขอขอบคุณสมาชิกรัฐสภา

ภารกิจสำคัญนี้คงไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฝ่ายวุฒิสมาชิก จำเป็นที่จะต้องแสวงหาความเห็นชอบร่วมกันในวาระที่ 2 ในชั้นคณะกรรมาธิการ และยังมีวาระที่ 3 ที่เสียงของสมาชิกวุฒิสภา 1 ใน 3 ยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องร่วมกันคิดกันทำให้สำเร็จ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนและประเทศ ภายใต้การปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขส่วนร่างของภาคประชาชนไม่อยากให้มองว่า ตกทั้งหมด ความตั้งใจทำใส่ส่วนที่ดีที่เป็นประโยชน์ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องนำมาประกอบการพิจารณาในทุกขั้นตอน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"นายกรัฐมนตรี" ออกแถลงการณ์ งัดกฎหมายทุกฉบับคุมเข้มชุมนุม

"กลุ่มไทยภักดี" ยอมรับมติสภาตั้ง ส.ส.ร.ยกร่าง รธน.ใหม่

เปิด 45 ชื่อ คณะกรรมาธิการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 256

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง