พล.ท.คงชีพ ชี้ยังไม่จำเป็น "สื่อ" ใช้เสื้อเกราะทำข่าวชุมนุม

การเมือง
19 พ.ย. 63
16:17
628
Logo Thai PBS
พล.ท.คงชีพ ชี้ยังไม่จำเป็น "สื่อ" ใช้เสื้อเกราะทำข่าวชุมนุม
โฆษกกลาโหม ปัดให้ผู้สื่อข่าวใช้ "เสื้อเกราะ" หลังสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ร้องขอให้ฝ่ายความมั่นคงอนุญาตนักข่าวภาคสนามใช้เสื้อเกราะระหว่างทำข่าวชุมนุม ชี้เป็นยุทธภัณฑ์ควบคุม ไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปมีไว้ในครอบครอง

วันนี้ (19 พ.ย.2563) พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ก่ลาวถึงกรณีสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) ร้องขอให้ผู้สื่อข่าวมีและใช้เสื้อเกราะเพื่อความปลอดภัยระหว่างทำข่าวการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ โดยระบุว่า “เสื้อเกราะ” เป็นยุทธภัณฑ์ควบคุม ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 กำหนดให้มีได้เฉพาะส่วนราชการทหาร ตำรวจ ส่วนราชการ องค์การของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ที่มีภารกิจในการป้องกัน ปราบปรามและเสี่ยงภัย และไม่อนุญาตให้บุคคลทั่วไปมีไว้ในครอบครอง

ภายใต้กฎหมายที่ต่างยืนยันจะไม่ใช้ความรุนแรงต่อกันนั้น ฝ่ายความมั่นคงได้พิจารณา ถึงความเหมาะสมต่อสถานการณ์แล้ว ยังไม่มีความจำเป็นที่ผู้สื่อข่าวต้องมี ใช้เสื้อเกราะดังกล่าว
ภาพ : กระทรวงกลาโหม

ภาพ : กระทรวงกลาโหม

ภาพ : กระทรวงกลาโหม


อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะให้ความสำคัญกับจุดคัดกรองในทุกพื้นที่ชุมนุม และร่วมเฝ้าระวังดูแลความปลอดภัยของทุกฝ่ายใกล้ชิดมากขึ้น และจะปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันด้วยความระมัดระวังอย่างถึงที่สุด ภายใต้กรอบกฎหมายที่กำหนด พร้อมทั้งต้องขอความร่วมมือผู้ชุมนุมทุกกลุ่มให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐและไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

สื่อไทยเตรียมพร้อม - ประเมินสถานการณ์ 

ขณะที่ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถึงกรณีการใช้เสื้อเกราะระหว่างทพข่าวการชุมนุม โดยระบุว่า เสื้อเกราะเป็นยุทธภัณฑ์ ซึ่งได้รับการควบคุมภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 ดังนั้น สื่อมวลชนก็ต้องเคารพกฎหมาย หากมีความจำเป็นต้องใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ต้องขออนุญาตอย่างถูกต้องก่อน

 


อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ฝ่ายความมั่นคงเคยอนุญาตให้สื่อมวลชนได้ใช้เสื้อเกราะระหว่างการทำข่าวชุมนุมปี 2553 เนื่องจากสถานการณ์ในช่วงนั้นมีการเริ่มใช้เครื่องยิง มีกระสุนยาง รวมถึงมีการเสริมกำลังทหารเข้ามาในปฏิบัติการด้วย ดังนั้น สื่อมวลชนในสนามเองก็ต้องประเมินสถานการณ์ กำลังเจ้าหน้าที่ และอุปกรณ์ต่างๆ ด้วย

สื่อต้องรู้เทคนิคในการนำเสนอข่าวโดยหลีกเลี่ยงแนวปะทะ เพื่อลดความเสี่ยง การนำเสนอข่าวหรือถ่ายภาพสามารถซูมจากที่ไกลๆ ได้ เมื่อประเมินสถานการณ์ว่ามีความเสี่ยงก็ควรถอยออกมาอยู่ในจุดปลอดภัย แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องหนีออกมาโดยไม่ทำข่าว

 


ทั้งนี้ นายจีรพงษ์ ระบุว่า สื่อแต่ละสำนักมีการประเมินสถานการณ์และเตรียมความพร้อมให้สื่อมวลชนภาคสนามอยู่แล้ว แต่ในอนาคต หากมีการยกระดับสถานการณ์แล้วสื่อมวลชนต้องการใช้เสื้อเกราะเพื่อความปลอดภัย ทางองค์กรสื่อหลายๆ องค์กรก็สามารถรวมตัวกันเพื่อประสานและพูดคุยระหว่างสื่อมวลชนภาคสนามและฝ่ายความมั่นคงถึงความจำเป็น เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างปลอดภัย 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง