เปิดปม : มานิ-จาไฮ ชีวิตบนเส้นด้าย

สังคม
23 พ.ย. 63
16:20
1,033
Logo Thai PBS
เปิดปม : มานิ-จาไฮ ชีวิตบนเส้นด้าย
แม้กระทรวงมหาดไทยรับรองแล้วว่า มานิ-จาไฮ อยู่ในแผ่นดินนี้ก่อนเกิดรัฐชาติ มีสิทธิได้รับการรับรองในสัญชาติไทยตั้งแต่เกิด แต่ยังมีบางส่วนตกหล่นจากการได้รับรองสิทธินี้ และยังเผชิญความท้าทายหลายด้านในการรักษาวิถีชนเผ่าดั้งเดิมไว้

มานิ-จาไฮ ชนพื้นเมืองของไทย

จากหลักฐานทางโบราณคดีและมานุษยวิทยา พบว่า ชาวมานิและชาวจาไฮสืบทอดเชื้อสายมาจากชาวเนกริโตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งอพยพมาจากทวีปแอฟริกาในช่วงยุคน้ำแข็งสุดท้ายเมื่อ 50,000 ปีที่แล้ว ในช่วงนั้นแผ่นดินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเชื่อมต่อกันทั้งผืนทวีป จนกระทั่ง 20,000 ปีก่อนหน้านี้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ทำให้แผ่นดินถูกตัดขาดออกเป็นเกาะแก่งต่างๆ ด้วยน้ำทะเล พวกเขาจึงกลายเป็นกลุ่มชนกระจายอยู่ในแหลมมลายู ได้แก่ในประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และทางตอนใต้ของไทย

ภาพ : ชาวจาไฮ อ.ธารโต จ.ยะลา

ภาพ : ชาวมานิ ต.น้ำผุด อ.ละงู จ.สตูล

ข้อมูลจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ระบุว่า ชาวมานิ “มานิ” (Mani) หรือ “มานิค” (Maniq) อาศัยอยู่ในเทือกเขาบรรทัด จ.สตูล ตรัง และพัทลุง คำว่า มานิ เป็นคำที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกตนเอง แปลว่า “คน” ขณะที่คำว่า “จาไฮ” (Jahai อาจออกเสียงว่า ยาฮาย ยะฮาย ก็ได้) ก็มีความหมายว่า “คน” เช่นเดียวกัน

เราสามารถพบชาวจาไฮได้ใน จ.ยะลาและนราธิวาส บริเวณผืนป่าฮาลา-บาลา และเขื่อนบางลาง

ถึงแม้ชาวจาไฮมีรูปร่างเหมือนกับชาวมานิ แต่ทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์ใช้ภาษาที่แตกต่างกัน

ชาวจาไฮใช้ภาษาจาไฮ ขณะที่ ชาวมานิใช้ภาษามานิ ดังนั้น ถึงแม้พวกเขาพบกันก็ไม่อาจสื่อสารกันเข้าใจได้

เมื่อสัญชาติเกิดขึ้นพร้อมกับความเป็นรัฐชาติ ชาวมานิจึงมีสัญชาติไทยตั้งแต่เกิด ชาวมานิและชาวจาไฮจึงได้รับการยอมรับมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ว่าเป็นคนไทยดั้งเดิม เนื่องจากพวกเขาอยู่ติดแผ่นดินนี้มาก่อนเกิดรัฐชาติหรือประเทศไทย

ปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติของชาวมานิ-จาไฮ

ผ่านมา 10 ปีแล้วตั้งแต่กรมการปกครองมีคำสั่งให้นายอำเภอทุกอำเภอแก้ไขสถานะบุคคลให้ชาวมานิและจาไฮ โดยรับรองสิทธิในสัญชาติไทยซึ่งเป็นสิทธิที่พวกเขามีตั้งแต่เกิด แต่ทั้งสองกลุ่มชาติพันธุ์ยังตกอยู่ในสภาพของคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ

ปัจจุบัน มีชาวมานิจำนวน 16 คน ที่ยังไม่ได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยและยังไม่ได้ทำบัตรประชาชน

ขณะที่ ทางภาคใต้ตอนล่างของไทย ฝ่ายทะเบียน อ.เบตง จ.ยะลา เพิ่งริเริ่มซักประวัติและทำผังครอบครัวชาวจาไฮใน บ.นากอ ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา จำนวน 52 คน เพื่อเข้าสู่กระบวนการการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยและบัตรประชาชนต่อไป คาดการณ์ว่า ปัจจุบัน มีชาวจาไฮอยู่ใน จ.ยะลาและนราธิวาส มากกว่า 400 คน

น.ส.ศิวนุช สร้อยทอง นักกฎหมายจากบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มธ. ให้ความเห็นว่า ปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติของชาวมานิจาไฮจะส่งผลให้ประชากรของทั้งสองชนเผ่าถูกตัดขาดจากสวัสดิการและความช่วยเหลือของรัฐ ทั้งที่เป็นสิทธิที่พวกเขาพึงได้รับ

แน่ชัดแล้วว่าพวกเขาคือกลุ่มเปราะบางของสังคม การที่ทอดทิ้งเขาจากบัตรประชาชน คือการทอดทิ้งเขาจากสวัสดิการสังคมประเทศไทยแทบจะทุกมิติ เพราะตอนนี้เราต้องยอมรับว่าสวัสดิการวิ่งมาตามเลข 13 หลัก

ยากจน ไร้ความมั่นคงทางอาหาร ทับแตกกระเส็นกระสาย

ชาวมานิในทับ ต.น้ำผุด อ.ละงู จ.สตูล บริหารเงินและสวัสดิการต่างๆ ที่ได้มาพร้อมกับสัญชาติไทย เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด มาใช้จ่ายและบริหารภายในทับ

นอกจากนี้ นายแอ๊ด ศรีมะนัง ชาวมานิในทับ ยังมีรายรับจากเงินเดือนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.  แต่ด้วยระบบสังคมนิยมแบบโบราณซึ่งเป็นสังคมของกลุ่มหาของป่าล่าสัตว์ อาหารต่างๆ จะถูกรวมเป็นกองกลาง ก่อนแบ่งปันให้กับมานิทุกคนในทับเท่าๆ กัน

นายแอ๊ดบอกว่า พวกเขาพอใจกับความเป็นอยู่ในขณะนี้มาก

 

ไม่ต้องออกไปรับจ้างหากไม่ต้องการใช้เงินจริงๆ ตอนนี้ในทับมีข้าว มีเงินพอใช้ ได้เข้าป่า ใช้ชีวิตในป่าทุกวัน

เมื่อพ่อแม่ชาวมานิไม่จำเป็นต้องออกไปรับจ้าง เนื่องจากพึ่งพาสวัสดิการของรัฐแทนเงินค่าจ้าง พวกเขา จึงสามารถพาลูกๆ เข้าป่า พร้อมกับสอนวิถีชาวมานิให้กับลูกๆ ได้ทุกวัน

โดยเฉพาะภาษามานิซึ่งองค์การยูเนสโก้เคยประกาศเมื่อปี 2554 ว่าอยู่ในกลุ่มภาษาที่เสี่ยงต่อการสาปสูญแน่นอน (Definitely endangered) เนื่องจาก เด็กๆ ไม่ได้เรียนภาษานี้ในสถานะภาษาแม่ภายในบ้านตัวเองอีกต่อไป

ขณะที่ ชาวจาไฮในภาคใต้ตอนล่างของไทยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสถานะไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ต่างอยู่กระจัดกระจายออกเป็นกลุ่มเล็กๆ เนื่องชาวจาไฮวัยแรงงานจากต้องออกไปรับจ้างตามสวนยางพาราและสวนผลไม้

นายปีเตอร์และลูกพี่ลูกน้องชาวจาไฮด้วยกัน ต้องแยกออกมาจากทับเพื่อรับจ้างถางสวนป่าจำนวน 3 ไร่ แลกกับค่าจ้าง 6,000 บาท เขาจะได้เดินทางกลับไปพบกับครอบครัวซึ่งรวมตัวกันอยู่ที้บ้านจุฬาภรณ์ 9 ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา ก็ต่อเมื่อนายจ้างให้หยุดหรืองานเสร็จแล้ว โดยอาศัยเรือหางยาวเดินทางผ่านเขื่อนบางลาง ใช้เวลาเดินทางเกือบ 2 ชั่วโมง

 

ผศ.บัณฑิต ไกรวิจิตร นักมานุษยวิทยา มอ.วิทยาเขตปัตตานี ให้ข้อมูลว่า เมื่อแปลภาพถ่ายทางอากาศพบว่าพื้นที่หาอาหารของชาวจาไฮเหลือเพียงร้อยละ 2 จากผืนป่าทั้งหมดที่มีอยู่ใน จ.ยะลา และนราธิวาส เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนบางลางเมื่อ 40 ปีที่แล้ว และ เป็นผลจากการใช้ประโยชน์ในที่ดินของชุมชนภายนอกที่ขยายตัวเข้าไปในพื้นที่ป่า

 

เริ่มเห็นลักษณะการแตกตัวองค์กรของเขามากขึ้น จากที่เคยอยู่รวมกันเป็นทับขนาดใหญ่มากกว่า 100 คนขึ้นไปก็กลายเป็นกลุ่มย่อยๆ กระจายออกไปข้างนอกเพื่อทำงานรับจ้าง เราเข้าใจว่าดั้งเดิมเขาไม่ต้องกระจายตัวออกมาไกลขนาดนี้ทำให้ชาวจาไฮรุ่นใหม่ไม่ได้เรียนรู้วิถีชีวิตจากคนสูงวัย เพราะสำหรับพวกเขาทับก็คือโรงเรียน

 

 

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง