THE EXIT : สอบโครงการกู้ภัยแล้ง

อาชญากรรม
23 พ.ย. 63
19:02
374
Logo Thai PBS
THE EXIT : สอบโครงการกู้ภัยแล้ง
THE EXIT ตรวจสอบข้อร้องเรียนของชาวบ้านใน อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ที่ตั้งข้อสังเกตโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม เอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางกลุ่มหรือไม่ หลังพบบางโครงการซ้ำซ้อนกับโครงการเดิม และการตั้งโครงการมูลค่าไม่เกิน 500,000 บาท ทำให้ไม่ต้องประกวดราคา

ไทยพีบีเอสลงพื้นที่ร่วมกับกำนันตำบลโพนสูง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี เพื่อตรวจสอบข้อร้องเรียนในโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม โดยจุดแรกคือบริเวณที่คาดว่าเป็นโครงการขุดลอกห้วยหนองแสงตอนล่าง บ.โพนสูงใต้ ซึ่งได้รับอนุมัติงบประมาณทั้งหมด 490,000 บาท


บริเวณดังกล่าวยังมีป้ายโครงการซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า ในปีงบประมาณ 2559 เคยมีการดำเนินการขุดลอกห้วยหนองแสงไปแล้ว โดยใช้งบประมาณ 250,000 บาท จากโครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ขุดขยายห้วยกว้าง 21 เมตร ลึกจากดินเดิม 4 เมตร

นายวิรัตน์ ชีพจำเป็น กำนันตำบลโพนสูง ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการขุดลอกห้วยหนองแสงตอนล่างซึ่งอนุมัติในปี 2563 ระบุรายละเอียดโครงการว่าให้ขุดปากบนกว้าง 15 เมตร ลึกจากดินเดิม 2.5 เมตร ทั้งที่ปัจจุบันห้วยหนองแสงมีขนาดกว้างและลึกกว่าที่ระบุในโครงการอยู่แล้ว


ที่ผ่านมาชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ยื่นเรื่องร้องเรียนการบริหารงานของอำเภอบ้านดุงไปยังประธานคณะกรรมาธิการ การกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2563 โดยเรื่องแบบของโครงการหลายแห่งใน อ.บ้านดุง ที่ไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่จริงเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกร้องเรียน

บริษัทนอกพื้นที่รับงาน - ไม่ประกวดราคา

การคัดเลือกบริษัทเข้ารับงานเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ถูกร้องเรียน โครงการทั้งหมดที่ดำเนินการใน อ.บ้านดุง เป็นโครงการที่มีมูลค่าไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งในทางกฎหมายเปิดช่องให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการเฉพาะเจาะจง โดยให้อำนาจหน่วยงานระดับอำเภอเป็นผู้คัดเลือกผู้รับจ้างได้เลย โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการประกวดราคา หรือ e-bidding


ผู้รับเรื่องร้องเรียนจากชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.บ้านดุง ตรวจสอบพบว่า บริษัทที่ได้รับงานจากอำเภอบ้านดุง ทั้งหมดเป็นบริษัทที่มาจากนอกพื้นที่ ซึ่งเขามองว่า ผิดวิสัยของการรับงานมูลค่าไม่เกิน 500,000 บาท

นายโชคเสมอ คำมุงคุณ เลขานุการรองประธานสภาผู้เเทนราษฎรคนที่ 2 ระบุว่า ปีนี้ ได้ไล่ถามบริษัทที่อยู่ในพื้นที่ ไม่มีบริษัทไหนเลยที่ได้รับจ้าง ส่วนมากเป็นบริษัทข้างนอกอำเภอ นอกจังหวัด บางบริษัทมาจากกรุงเทพมหานคร และนครราชสีมา ซึ่งมันผิดวิสัยของการจะมารับจ้างในระดับ 500,000 บาท

งาน 500,000 บาท จะขนเครื่องจักรมาจากกรุงเทพมหานครเป็นไปได้อย่างไร

จากหลักฐานที่คณะกรรมาธิการฯ ได้รับระบุว่า มีบริษัทบางแห่งเสนอราคาต่ำกว่าราคาที่อ.บ้านดุงทำสัญญากับบริษัทผู้รับจ้างงานกว่าร้อยละ 20 แต่กลับไม่ผ่านการคัดเลือก โดยทีมงานติดต่อขอคำชี้แจงจากนายอำเภอบ้านดุงแต่ไม่ได้รับการตอบรับโดยให้เหตุผลว่าติดภารกิจ

 


จัดซื้อจัดจ้างเฉพาะเจาะจงเอื้อคอรัปชั่น ?

ขณะที่ กลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายภาคประชาชนต้านทุจริตและคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับเรื่องร้องเรียนในโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม มองว่า สิ่งที่เป็นปัญหาของโครงการนี้คือการเลือกใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง


นายวิวัฒน์ สมบัติหลาย ประธานกลุ่มธรรมาภิบาล ระบุว่า วิธีการเฉพาะเจาะจงน่าจะเป็นการกำหนดเพื่อเอื้อประโยชน์กับผู้ใดผู้หนึ่งที่ต้องการให้เกิดการวิ่งเต้นขายงานของขบวนการที่เรียกว่า "ขบวนการค้างบประมาณแผ่นดิน" เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นเพื่อเรียกรับผลประโยชน์ ซึ่งมองว่ามีเบื้องหลัง ปีงบประมาณที่ผ่านมาก็เป็นเช่นนี้ ดังนั้น วิธีจัดซื้อจัดจ้างแบบเฉพาะเจาะจง ไม่ควรมีเพราะเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสมและสนับสนุนให้เกิดการทุจริต


ปัจจุบัน คณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้เรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลแล้วหลายพื้นที่โดยคาดว่า จะมีการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงภายในเดือน พ.ย.นี้

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง