กางแผน "แก้ฝุ่น" ปีนี้มีอะไรใหม่

สิ่งแวดล้อม
24 พ.ย. 63
05:59
845
Logo Thai PBS
กางแผน "แก้ฝุ่น" ปีนี้มีอะไรใหม่
ทส.ตั้งเป้าลด Hotspot 20% ในปี 64 ลุยแผนแก้วิกฤตฝุ่น พัฒนาแอปพลิเคชันจองคิวเผาและเครือข่ายดับไฟป่า ส่ง SMS แจ้งเตือนพื้นที่ค่าฝุ่นสูงทันที

ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) ถูกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์คล้ายกับศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ทำความเข้าใจประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือและลดพฤติกรรมที่ก่อฝุ่น โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) หลังผ่านพ้น 1 ปี ที่ ครม.ประกาศให้ฝุ่นเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมคลอดแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน

 

"ถ้ากระทรวงทรัพย์ฯ มีอำนาจสั่งการให้รถวิ่งได้หรือไม่ได้ หรือไม่ให้เผา เชื่อว่าศูนย์ฯ นี้จะมีพลานุภาพมากที่สุด แต่บังเอิญว่ากระทรวงทรัพย์ฯ เป็นเจ้าภาพแก้ปัญหา PM 2.5 ที่ต้องอาศัยความร่วมมือหลายหน่วยงาน" นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. กล่าวถึงความร่วมมือของหลายหน่วยงาน พร้อมระบุว่าศูนย์ ศกพ. เป็นก้าวแรกในการสร้างความรับรู้ของประชาชนให้ตื่นตัวและเตรียมตัวรับสถานการณ์ อีกทั้งฝุ่นเป็นปัญหาที่เกิดได้จากทุก ๆ คน จึงขอให้ร่วมมือแก้วิกฤตนี้

การแก้ปัญหาฝุ่นยังนึกไม่ออกว่าจะใช้งบฯ ส่วนใดบ้าง เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนผลิตขึ้นมาทั้งหมด ไม่เหมือน COVID-19 ที่ใช้งบฯ ป้องกัน รักษา และกักตัว แต่ PM 2.5 แค่นำรถไปทำความสะอาดเครื่องยนต์ เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ส่วนภาคการเกษตรก็เผาในช่วงที่กำหนดไว้ หรือใช้เทคโนโลยีอื่นแทนการเผา

ยืนยันมีกฎหมายคุมฝุ่น

ขณะที่นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. ยืนยันว่า มีกฎหมายหลายฉบับที่ใช้ควบคุมการก่อมลพิษและการเผา เช่น พ.ร.บ.ป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และ พ.ร.บ.การสาธารณสุข

สิ่งที่ทำความเดือดร้อนให้ประชาชนนั้นมีกฎหมายดูแล ไม่น่ามีปัญหาเรื่องกฎหมาย

เข้า "ฤดูฝุ่น"

วันนี้ (24 พ.ย.2563) เวลา 04.00 น. เว็บไซต์ air4thai ของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานค่าฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตรวจพบระหว่าง 19-52 มคก./ลบ.ม. โดยวัดค่าสูงสุดได้บริเวณริมถนนดินแดง เขตดินแดง 52 มคก./ลบ.ม. หรือคุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

เข้าสู่ช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือที่หลายคนเรียกว่าต้น “ฤดูฝุ่น” ปีนี้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) บูรณาการการทำงานกับหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงท้องถิ่น ตั้งเป้าลดจุดความร้อน (Hotspot) ร้อยละ 20

สู่เป้าลด Hotspot 20%

นายอรรรถพล เจริญชันษา อธิบดี คพ. กล่าวว่า ช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.เชียงราย เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ได้มอบนโยบายเรื่องหมอกควันไฟป่า พร้อมให้กำหนดตัวชี้วัดในการแก้ปัญหา คพ.จึงกำหนดเป้าหมายในวาระแห่งชาติ ว่า ต้องลด Hotspot ร้อยละ 20 และได้นำแผนวาระแห่งชาติของปีที่แล้ว มาปรับปรุงเป็น 12 แนวทางปฏิบัติสำคัญ พร้อมตั้งอนุกรรมการการสื่อสาร ตั้ง ศกพ. สื่อสารให้เกิดความชัดเจน เป็นกลไกประชาสัมพันธ์ บูรณาการความร่วมมือ และบังคับใช้กฎหมาย

เดือนธันวาคมสำคัญที่สุด ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ตั้งเป้าปี 2564 Hotspot ลดลง 20%

 

อธิบดี คพ. กล่าวว่า จุดอ่อนปี 62 คือ มีแผนแต่ไม่สามารรถนำไปใช้ทำงานได้อย่างสอดประสาน เช่น มีวอร์รูมระดับจังหวัด แต่จังหวัดไม่สามารถควบคุมระดับอำเภอ และระดับท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่การเผา หรือไฟไหม้ป่าได้ โดยท้องถิ่นต้องบัญชาการสถานการณ์ไฟป่าให้ได้ ที่ผ่านมายังไม่มีความพร้อมทั้งการติดต่อประสานงาน การสนธิกำลังดับไฟป่าตามหลักวิชาการ ปีนี้ ทส.จึงอบรมชุมชนใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ทำให้ชุมชนเข้มแข็งและมีช่องทางขอกำลังดับไฟป่า

นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายจิตอาสาพระราชทานเพื่อดับไฟป่า และ ทส. จ้างเครือข่ายชุมชนดูแลดับไฟป่า ชุมชนละ 5,000 บาท ไม่ต่ำกว่า 1,000 เครือข่าย รวมทั้งการชิงเผาก่อนถึงฤดูไฟในพื้นที่ป่า นำร่องที่ จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย และจัดการเชื้อเพลิงจนถึงเดือนธันวาคมนี้ เช่น การนำเชื้อเพลิงไปใช้ประโยชน์ สนับสนุนแปรรูปทั้งการนำซังข้าวโพดมาแปรรูปเป็นถ่าน อาหารสัตว์ จานอัดใบไม้

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ มีพื้นที่สุ่มเสี่ยงเกิดไฟไหม้ป่า 2.8 ล้านไร่ เพราะมีปริมาณสะสมเชื้อเพลิงมาก ต้องลดความเสี่ยง และสกัดแนวเชื้อเพลิง ให้คุมไฟได้ง่าย

จอง "เผา" ลดวิกฤตฝุ่น

อีกหนึ่งบทเรียน คือ ห้วงห้ามเผานานเกินไปและควบคุมการเผาไม่ได้ เมื่อพ้นช่วงเวลาที่กำหนด ชาวบ้านก็พร้อมใจกันเผาเตรียมพื้นที่ทำการเกษตรจนเกิดวิกฤตฝุ่นและหมอกควัน โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน "Burn Check" จัดระเบียบการเผาในช่วงที่เหมาะสม โดยแจ้งขออนุญาตผ่านทางท้องถิ่น นำร่องทดสอบการใช้งานที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่

แอปพลิเคชันบัญชาการดับไฟป่า “Fireman TH” ให้เจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ทหาร ฝ่ายปกครอง ลงทะเบียนแสดงตำแหน่ง หากเกิดไฟป่าจะทราบจุดของคนที่อยู่ใกล้ที่สุด เพื่อเข้าถึงพื้นที่และดับไฟได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ยังคงมีช่วงห้ามเผา ซึ่งแต่ละจังหวัดจะกำหนดช่วงเวลาที่แตกต่างกันตามสถานการณ์

ปีก่อนกลัวการเผา จึงห้ามทั้งหมด ทำให้ห้วงการห้ามเผานานเกินไป ยกตัวอย่างพื้นที่ภาคเหนือที่ชาวบ้านเตรียมพื้นที่เกษตร ห้ามไม่ได้เพราะเขาจำเป็น จึงต้องใช้แอปพลิเคชันและแจ้งทางอำเภอ ถ้ากระจายการเผา แต่ละวันค่ามลพิษฝุ่น PM 2.5 จะน้อยลง

3 แผนขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "แก้ฝุ่น"

  • มาตรการที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (การแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนและในช่วงวิกฤต) หากค่าฝุ่นอยู่ระหว่าง 51-75 มคก./ลบ.ม. ให้ทุกหน่วยงานดำเนินมาตรการเข้มงวดขึ้น, ค่าฝุ่นอยู่ระหว่าง 76-100 มคก./ลบ.ม. ให้ผู้ว่าราชการ กทม. หรือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์โดยใช้อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวของควบคุมพื้นที่ ควบคุมแหล่งกำเนิด และกิจกรรมที่ทำให้เกิดมลพิษ, ค่าฝุ่นมากกว่า 100 มคก./ลบ.ม. จะเสนอมาตรการไปที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมากำกับ เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี พิจารณาใช้มาตรการเข้มข้นขึ้น เช่น หยุดโรงเรียน ห้ามใช้ยานพาหนะในบางพื้นที่ ทำงานเหลื่อมเวลา หรือทำงานที่บ้าน
  • มาตรการที่ 2 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) โดยแก้ปัญหาในระยะสั้น ปี 2562-2564 เช่น บังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ Euro 5 ภายในปี 2564 ปรับลดอายุรถที่จะเข้ารับการตรวจสภาพประจำปี ใช้มาตรการจูงใจให้ผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้า นำเศษวัสดุมาใช้ประโยชน์ทดแทนการเผา ควบคุมฝุ่นจากการก่อสร้าง ใช้พลังงานสะอาดในครัวเรือน ส่วนระยะยาว ปี 2565-2567 เช่น ไม่ให้อ้อยไฟไหม้ 100% ภายในปี 2565 ปรับปรุงมาตรฐานอากาศเสียให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล
  • มาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ โดยแก้ปัญหาระยะสั้น ปี 2562-2564 ระยะยาว ปี 2565-2567 เช่น พัฒนาเครือข่ายการติดตามตรวจสอบคุณภาพอาการให้ครอบคลุม 77 จังหวัด ปรับค่ามาตรฐาน PM 2.5 เฉลี่ยรายปีตาม WHO IT-3 ปรับปรุง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษษคุณภาพสิ่งแวดล้อม การแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดนภายใน้ ASEAN Haze Agreement จัดทำบัญชีการระบายมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิดพื้นที่วิกฤตเป็นระยะ พัฒนาระบบฐานข้อมูลและระบบเฝ้าระวังสุขภาพที่เป็นหนึ่งเดียว

เปิด 12 แผนเฉพาะกิจ

ในวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติดังกล่าว และแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 12 ข้อ ได้แก่

  • การสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย เช่น ตั้งศูนย์ข้อมูลการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ
  • แต่งตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง
  • การบริการจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า ด้วยการเก็บขนและใช้ประโยชน์เศษวัสดุในป่า การบริหารเชื้อเพลิงใน 17 จังหวัดภาคเหนือ
  • การสร้างเครือข่าย อาสาสมัคร และจิตอาสา เป็นกลไกหลักเข้าถึงพื้นที่ ทั้งสื่อสาร ติดตามเฝ้าระวัง และดับไฟ
  • เร่งขับเคลื่อนโครงการปลูกป่าและป้องกันไฟป่า ในพื้นที่ 12 จังหวัดภายในปี 2563 และ 76 จังหวัดภายใน 2570
  • เร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพการถ่ายโอนภารกิจการควบคุมไฟป่าให้แก่ อปท.ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
  • การพยากรณ์ฝุ่นละอองล่วงหน้า 3 วัน เพื่อแจ้งเตือนประชาชนผ่าน SMS
  • การประยุกต์ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในการรายงานปริมาณฝุ่นละอองเชิงพื้นที่
  • พัฒนาระบบคาดการณ์ และระบบสนับสนุนการตัดสินใจ รวมถึงการพัฒนาและใช้งานแอปพลิเคชันบัญชาการดับไฟป่า
  • บริหารจัดการเชื้อเพลิงโดยใช้แอปพลิเคชันลงทะเบียนจัดการเชื้อเพลิง
  • ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลป่าไม้ และลดการเผาป่า ผ่านการจัดที่ดินทำกิน
  • เจรจาสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งระดับอาเซียน ระดับทวิภาคี และระดับพื้นที่ชายแดน

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมควบคุมมลพิษ ชี้ "รถเครื่องยนต์ดีเซล" สาเหตุหลัก PM2.5 

กทม.จ่อใช้แอปฯ พยากรณ์ฝุ่น PM2.5 ล่วงหน้า 3 วัน 

"ฝุ่นพิษ" ทุบสถิติรอบ 4 ปี ค่าสูงลิ่ว 366 มคก.ต่อ ลบ.ม. 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง