“เขื่อนสานะคาม” เปิดข้อมูลครั้งแรก ให้ 8 จว.ร่วมถก

สิ่งแวดล้อม
24 พ.ย. 63
15:52
674
Logo Thai PBS
“เขื่อนสานะคาม” เปิดข้อมูลครั้งแรก ให้ 8 จว.ร่วมถก
สทนช. ประเดิมเวทีแรกเปิดข้อมูลเขื่อนสานะคาม ตามกระบวนการ PNPCA ของประเทศลุ่มน้ำโขง เปิดโอกาสให้ผู้แทน 8 จังหวัด เสนอข้อคิดเห็นและข้อกังวล

วันนี้ (24 พ.ย.2563) สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (TNMC) ร่วมสัมมนาผู้มีส่วนได้เสียระดับภูมิภาคของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 10 ร่วมกับประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ประกอบด้วย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ราชอาณาจักรกัมพูชา

จัดขึ้นโดยสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ที่เมืองปากเซ แขวงจำปาศักดิ์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (ลาว) ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 40 คน จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนภาคประชาชน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ที่ปรึกษาระดับประเทศ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยในภาควิชาที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า เวทีสัมมนาครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานตามระเบียบปฏิบัติ เรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) เพื่อให้ข้อมูลระดับภูมิภาคครั้งแรกของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม สปป.ลาว แก่ผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะประชาชน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว

ในการสัมมนา มีการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาพรวม และประโยชน์ของ PNPCA ภายใต้ความตกลงว่าด้วยตกลงว่าด้วยความร่วมมือ เพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ.2538 (1995 Mekong Agreement)

รวมถึงรายงานการดำเนินการปรึกษาหารือล่วงหน้าที่ผ่านมา และความก้าวหน้าของการดำเนินการแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Action Plan) ของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำอื่น ๆ ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ได้นำเสนอวัตถุประสงค์และแผนงาน (Roadmap) สำหรับการปรึกษาหารือล่วงหน้าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม ภาพรวม ความเป็นมา และข้อมูลของโครงการ ไปจนถึงร่างรายงานทบทวนทางด้านเทคนิคของโครงการ (Technical Review Report: TRR)

อีกทั้งยังมีการนำเสนอมุมมองเบื้องต้นที่สำคัญของโครงการ ครอบคลุมในมิติต่าง ๆ ได้แก่ 1.ด้านอุทกวิทยา ตะกอน 2.ด้านคุณภาพน้ำ สิ่งแวดล้อม การประมงเศรษฐศาสตร์สังคม และ 3.ความปลอดภัยของเขื่อนและการเดินเรือ

“การสัมมนาวันนี้ ผู้มีส่วนได้เสียในทุกภาคส่วน จะได้ร่วมแบ่งปันมุมมอง รวมทั้งอภิปรายซักถามในประเด็นข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือเป็นการเปิดโอกาส ให้มีการเสนอข้อคิดเห็น และข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบข้ามพรมแดนซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการในแง่มุมต่าง ๆ ไปจนถึงให้ข้อเสนอแนะมาตรการในการลดผลกระทบ ให้ลาว ได้รับทราบ เพื่อนำไปพิจารณาต่อไป”

สำหรับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม เข้าสู่กระบวนการ PNPCA เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา เป็นโครงการที่รัฐบาลไทยมีความห่วงกังวลอย่างยิ่ง ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

เนื่องจากที่ตั้งของเขื่อนมีระยะห่างจากชายแดนของประเทศไทย เพียง 2 กิโลเมตร เท่านั้น และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ในปัจจุบันพรมแดนระหว่างประเทศไทย และลาว ยังคงอาศัยร่องน้ำลึกของแม่น้ำโขง

จึงมีข้อห่วงกังวลว่า การออกแบบโครงการอาจส่งผลให้กระแสน้ำกัดเซาะร่องน้ำลึก และส่งผลต่อลักษณะทางกายภาพของร่องน้ำ ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาแทรกซ้อน อันจะกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในระยะยาว จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์ข้อมูล และให้ความสำคัญเชิงลึกกับทุกประเด็นทางเทคนิค

และ สทนช. ซึ่งเป็นหน่วยประสานงานภายใต้กรอบความร่วมมือ MRC จะมีการติดตามการดำเนินงานในทุกขั้นตอนอย่างใกล้ชิด เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการให้ได้มากที่สุด และเกิดมาตรการรองรับที่ชัดเจนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะมาตรการซึ่งรับประกันได้ว่าโครงการจะไม่ส่งผลกระทบต่อร่องน้ำลึก

ทั้งนี้ ฝ่ายไทยซึ่งตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว จะเสนอเป็นท่าทีผ่านการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 26 พ.ย. นี้ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง