กรีนพีซชี้ สัญญาณดี "รัฐบาล" เคาะแผนสู้ฝุ่น

สิ่งแวดล้อม
24 พ.ย. 63
16:07
401
Logo Thai PBS
กรีนพีซชี้ สัญญาณดี "รัฐบาล" เคาะแผนสู้ฝุ่น
กรีนพีซ วิเคราะห์แผนสู้ฝุ่น PM2.5 ฉบับล่าสุด ยังพอมองเห็นอนาคตที่จับต้องได้บางส่วน พบความพยายามอุดจุดบอดระบบทำงานจากส่วนบนลงสู่ระดับปฎิบัติ คาดหวังเป็นไปตามเป้าลดปัญหาร้อยละ 20 ส่วนปรับมาตรฐานฝุ่นเท่า WHO แค่ 25 มคก.ต่อลบ.ม.ยังยาก

ภายหลัง ครม.มีมติเห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ เรื่องการแก้ไขปัญหาด้านมลพิษเรื่องฝุ่นละออง และแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง (อ่านเพิ่มเติม : กางแผน "แก้ฝุ่น" ปีนี้มีอะไรใหม่)

วันนี้ (24 พ.ย.2563) "ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย" ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ ถึงมุมมองแผนปฏิบัติการและแผนเฉพาะกิจว่า การตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองถือว่าเป็นสัญญาณดีของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา


หากมองจากแผนปฏิบัติการจะพบว่า มีการปรับแผนเพื่อเฝ้าระวังจุดเสี่ยง ปรับการจัดจราจร รวมถึงมีแอปพลิเคชันแจ้งค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เพื่อจัดระเบียบต้นกำเนิดฝุ่น การพยากรณ์ฝุ่นล่วงหน้า 3 วัน โดยการนับบิ๊กดาต้ามาใช้แจ้งเตือนประชาชน และเป็นเครื่องมือให้ภาครัฐได้เตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝุ่นก่อนการแจ้งปิดโรงเรียน หรือสั่ง Work from Home ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งภาพรวมถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญของรัฐบาลที่ไม่ได้มองว่าปัญหาฝุ่นเป็นเพียงมลพิษ แต่ยังเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขด้วย 

หนุนปรับมาตรฐานฝุ่น รากเหง้าปัญหามลพิษ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการปรับแผน แต่รากเหง้าของปัญหาฝุ่น PM2.5 ยังไม่ได้ถูกจับต้อง โดยเฉพาะค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ควรปรับให้เทียบเท่ากับมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) ปัจจุบันประเทศไทยกำหนดค่าเฉลี่ยฝุ่น PM 2.5 มาตรฐาน 1 วัน อยู่ที่ 50 มคก.ต่อ ลบ.ม. แต่ค่าเฉลี่ยของ WHO อยู่ที่ 25 มคก.ต่อลบ.ม. ส่วนค่าเฉลี่ยมาตรฐาน 1 ปี ไทยอยู่ที่ 25 มคก.ต่อลบ.ม. ขณะที่ WHO กำหนดไว้ที่ 10 มคก.ต่อ ลบ.ม.

การแก้ไขปัญหาฝุ่นควรจัดลำดับความสำคัญ โดยเฉพาะรากเหง้าปัญหาคือ การปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ให้เทียบเท่ากับมาตรฐาน WHO รวมถึงไม่มีการกำหนดมาตรฐานปลายปล่องรถยนต์ อุตสาหกรรม หรือโรงงานต่างๆ 


อย่างไรก็ตาม ในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติระยะยาว มีการกำหนดปรับมาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในปี 2567 ซึ่งผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ฟันธงว่า เป็นไปได้ยากที่จะปรับได้ตามแผน ด้วยเจตจำนงทางการเมือง ที่เปลี่ยนรัฐมนตรี และอธิบดีมาแล้วหลายสมัยก็ยังไม่มีการปรับแก้ เพราะผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่งในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 แลกกับประโยชน์สาธารณสุขของคนทั่วประเทศ

รัฐมนตรีเข้ามาก็ไม่ทำ อธิบดีก็ไปทำอย่างอื่น เพราะการมาแตะตรงนี้ เท่ากับไปแตะผลประโยชน์ภาคอุตสาหกรรม แต่ถ้าเทียบกันสิ่งที่เสียไปจากการช่วยลดมลพิษจากแหล่งกำเนิด กับผลประโยชน์ที่ได้คนสุขภาพดีมันต่างกันเป็นร้อยเป็นพันเท่า

คาดรัฐลดฮอตสปอต 20% ได้ตามเป้า

นายธารา ยังแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเป้าหมายของแผนปฏิบัติการฯ ที่จะลดฝุ่น PM 2.5 รวมถึงลดจุดฮอตสปอตลงให้ได้ 20% โดยระบุว่า อาจเป็นไปได้ตามแผน แต่ต้องคำนึงถึงปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้คือมลพิษจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรัฐบาลก็ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อเจรจาสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งระดับอาเซียน ระดับทวิภาคี และระดับพื้นที่ชายแดนแล้วถือเป็นอีกความก้าวหน้าของรัฐบาลด้วย


ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการฯ ยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงาน โดยรัฐกำลังสร้างให้ประชาชนเป็นเพียงคนรับคำสั่ง แล้วปฏิบัติตาม ทั้งที่ภาคประชาชนจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยลดฝุ่น PM2.5 จึงหวังจะเห็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากขึ้นในอนาคต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง