ไทยสูญงบแก้ปัญหาฝุ่นปีละเท่าไหร่?

เศรษฐกิจ
26 พ.ย. 63
20:33
970
Logo Thai PBS
ไทยสูญงบแก้ปัญหาฝุ่นปีละเท่าไหร่?
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ชี้ไทยสูญเสียงบแก้ปัญหาฝุ่นปีที่ผ่านมามากถึง 2 ล้านล้านบาท เกินครึ่งหนึ่งของงบประเทศไทย และทุกปีก็ต้องมาจัดสรรงบแก้ฝุ่นกันอีก กว่า 10,000 ล้านบาท ทั้งระดับกระทรวงและส่วนท้องถิ่น

วันนี้ (26 พ.ย.2563) นายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่างบประมาณด้านสิ่งเเวดล้อม ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญจากรัฐบาล เมื่อเทียบกับปัญหาที่ไทยต้องเผชิญ อย่างฝุ่น PM 2.5 โดยงบประมาณปี 2563 จัดสรรงบประมาณด้านสิ่งเเวดล้อมเพียง 12,867.7 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 0.4 ของงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท

หากเทียบกับเงิน 1,000 บาท จะถูกนำไปใช้จัดการสิ่งแวดล้อม 4 บาท ขณะที่สหภาพยุโรป มีสัดส่วนงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 1.6 และ จีน สูงถึง ร้อยละ 2.52

 

ขณะที่ปัญหาสิ่งเเวดล้อม เช่น ฝุ่นจิ๋ว ได้สร้างผลกระทบในวงกว้าง และมีมูลค่าความเสียหายสูงกว่างบประมาณ อย่างล่าสุดมีงานวิจัยที่ใช้ค่าฝุ่นพิษ PM10 เป็นข้อมูลในการคำนวณ ซึ่งเป็นตัวแทนของฝุ่น PM2.5 ได้ดีในระดับหนึ่ง เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 เป็นส่วนหนึ่งใน PM10

ทั้งนี้ ในงานวิจัย ระบุว่า หากสมมติให้ทุกครัวเรือนได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษ ต้นทุนทางสังคมที่เกิดจากฝุ่นพิษ PM10 ของไทย ปี 2562 จะมีมูลค่าความเสียหายถึง 2.06 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 13.37 ของ GDP ซึ่งทำสถิติสูงสุดใหม่ เพราะเพิ่มขึ้นจากปี 2561 และ2560 ที่มูลค่าความเสียหายเท่ากับ 2,600,000 ล้านบาท และ 1,790,000 ล้านบาท ตามลำดับ โดยสาเหตุหลักมาจากค่าฝุ่นพิษที่ปรับตัวสูงขึ้นในหลายพื้นที่

จังหวัดที่มีต้นทุนทางสังคมจากฝุ่นพิษในระดับสูง?

กรุงเทพมหานคร ยังครองแชมป์มูลค่าความเสียหายจากฝุ่นพิษ โดยมีมูลค่าสูงถึง 451,000 ล้านบาท ทิ้งห่างอันดับ 2 ขาดลอย  คือ ชลบุรี ที่มีมูลค่าความเสียหาย 94,000 ล้านบาท ส่วนอันดับ 3 คือ นครราชสีมา อันดับ 4 นนทบุรี และอันดับ 5 คือ สระบุรี

รศ.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้วิจัย กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นเป็นปัญหาระยะยาว ไม่ควรแก้ปัญหาด้วยวิธีการชั่วคราว ส่วนงบประมาณประจำ สำหรับแก้ปัญหาสิ่งแวด ล้อมในภาพรวม ก็มีน้อยมาก หรือไม่ถึงร้อยละ 1 ส่วนตัวคิดว่า เม็ดเงินส่วนใหญ่ที่ใช้สู้ฝุ่น เป็นงบประมาณชั่วคราวที่จัดสรรจากส่วนกลาง ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงมาก ทั้งนี้การใช้งบประมาณจะมากหรือน้อย รัฐต้องดูเนื้องานเป็นหลัก แล้วไปแก้ที่ต้นเหตุ


เราใช้งบมากหรือน้อยไม่สำคัญ เพราะอยู่ที่เป้าหมายคืออะไร ถ้าต้องการให้ปัญหาฝุ่นลดลงอย่างรวดเร็ว งบประมาณก็ต้องใช้เยอะ แต่ถ้าค่อยๆทำแผน 10 ปี ก็ค่อยๆใช้เงิน จึงต้องเคลียร์เป้าหมายของรัฐบาลก่อนว่ามีแผนจะลดฝุ่น เร็วช้าขนาดไหน ถ้าสังเกตตอนนี้คือการลดฝุ่นยังทำไปเรื่อยๆ แบบหวานเย็น 

นายวิจารย์ สิมาฉายา ผอ.สถาบันสิ่งเเวดล้อมไทย อดีตปลัดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเเวดล้อม (ทส.) มองว่างบประมาณที่จัดสรรด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ได้น้อยจนเกินไป และ ระจายในหน่วยงานต่างๆ แต่สิ่งสำคัญต้องใช้งบประมาณให้เกิดประสิทธิภาพ

บางอย่าง ได้ผลน้อยแต่ยังทำอยู่ อย่างกรณีของพ่นน้ำ ก็เป็นผลทางจิตใจ เป็นงบที่ซื้อเครื่องพ่นน้ำไปพ่นในอากาศ ซึ่งได้ผลน้อยการแก้ปัญหาต้องกลับไปที่ต้นตอ การแก้มลพิษทางอากาศต้องกลับไปที่ต้นตอ 

สำหรับเรื่องของงบประมาณ ก่อนหน้านี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งเเวดล้อม (ทส.) ก็เคยพูดถึงการใช้จ่ายเช่นกัน

ผมยังนึกไม่ออกว่าจะใช้เงินทำอะไรบ้าง เพราะไม่เหมือน COVID-19 ที่ใช้ในการซื้อหน้ากาก หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ แต่ฝุ่น PM2.5 ถ้าแค่สตาร์ทรถ หรือเอารถไปทำความสะอาดเครื่องยนต์ก็ช่วยได้ ส่วนเกษตรกร เผาตามตารางและใช้เทคโนโลยีใหม่ ถามว่างบตรงนี้จำเป็นต้องหรือไม่ ถ้าไม่มีงบทุกหน่วยงานขอความร่วมมือ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

กทม.ยกระดับแอปฯ Air bkk เตือนฝุ่นพิษล่วงหน้า 3 วัน

หลักฐานภาพถ่ายดาวเทียม ชี้ไทยเผชิญฝุ่นมาแล้ว 20 ปี

สตง.ชี้แจกงบ 5 หมื่น "ดับไฟป่าเหนือ" ไร้ติดตาม-ประเมินผล


 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง