เทียบระเบียบทหาร! บ้านพัก "ประยุทธ์" ขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่

การเมือง
27 พ.ย. 63
10:27
72,840
Logo Thai PBS
เทียบระเบียบทหาร! บ้านพัก "ประยุทธ์" ขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่
เปิดระเบียบทหาร ชี้ชัดพ้นราชการไม่ว่ากรณีใดๆ ต้องย้ายออกบ้านพักทหาร ภายใน 180 วัน ขณะที่ตัวแทนรัฐบาล-กองทัพ แจงเหตุ "ประยุทธ์" ไม่ย้ายออกต่อศาลรัฐธรรมนูญถึง 3 ครั้ง ในรอบปี

สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดวินิจฉัยกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาศัยอยู่ในบ้านพักทหารทั้งที่เกษียณอายุราชการแล้ว เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือไม่

ซึ่งหากผลเป็นลบ จะส่งผลให้ 1.พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 2.ครม.พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นรัฐบาลรักษาการทันที และ 3.พล.อ.ประยุทธ์ จะถูกเว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี

จุดเริ่มต้นของคดีนี้ เริ่มจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ ในเดือน ก.พ. ปี 2563 ซึ่งภายหลังการอภิปรายพรรคเพื่อไทย นำโดย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา ในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรค) ยื่นเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

พรรคเพื่อไทย เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ เกษียณราชการและพ้นจากตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารบก” ในเดือน ก.ย. ปี 2557

ต่อมามีรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ประกาศใช้ ซึ่งบัญญัติ มาตรา 184 (3) ที่ห้าม ส.ส.-ส.ว.รับเงินหรือประโยชน์อื่นใดจาก หน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ และบังคับใช้กับ นายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรี ด้วย

ดังนั้น เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ อาศัยในบ้านพักทหารโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ถือว่าเป็นการ “รับประโยชน์ใด” จากหน่วยงานราชการ จึงขัดรัฐธรรมนูญ ปี 2560

ขณะที่รัฐบาลและกองทัพบก (หน่วยงานราชการที่รับผิดชอบ บ้านพักทหาร) มีการชี้แจงไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้วหลายครั้ง ดังนี้

1.ภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตัวแทนของรัฐบาลได้ส่งเรื่องผ่านรัฐสภา ซึ่งมีรายงานว่าได้ส่งเอกสารจำนวน 3 หน้า เพื่อขอส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญประกอบการวินิจฉัย

ประเด็นสำคัญ คือ การชี้แจงว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยอมรับว่า "อยู่บ้านพักทหารจริง" ส่วนสาเหตุที่ไม่อาศัยอยู่ที่บ้านพักประจำตำแหน่งนายกฯ คือ บ้านพิษณุโลก เพราะอยู่ระหว่างปรับปรุง นอกจากนี้ทีมงานรักษาความปลอดภัย ระบุว่า "การรักษาความปลอดภัยภายในค่ายทหารทำได้ดีกว่า"

2.การชี้แจงโดยกองทัพบก มีการส่งเอกสารชี้แจงลงนามโดย พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.ขณะนั้น ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ

3.ภายหลัง พล.อ.อภิรัชต์ ลงจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. และ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. หลังวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานว่ากองทัพบกได้ส่งเอกสารคำชี้แจง 3 หน้า ไปยัง ศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

กระทั่งการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 4 พ.ย. เห็นว่ามีเอกสารครบถ้วนในการวินิจฉัย จึงนัดลงมติในวันพุธที่ 2 ธ.ค.นี้ โดยผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า คดีบ้านพักทหารกองทัพบก ส่งเอกสารชี้แจงโดยผ่านความเห็นของ ผบ.ทบ. ถึง 2 คนด้วยกัน

ทั้งนี้สาระสำคัญที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับการอาศัยในบ้านพักทหาร อ้างอิงจาก “ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในอาคาร บ้านพักของข้าราชการและลูกจ้างประจำในกองทัพบก พ.ศ.2553”

พบว่า หมวด 3 การหมดสิทธิเข้าพักอาศัย มีการกำหนดกรณีที่ข้าราชการทหารหมดสิทธิเข้าพักในบ้านพักทหารอย่างละเอียด โดยข้อที่เกี่ยวข้องกับกรณี พล.อ.ประยุทธ์ คือ ข้อ 14.2 มีสาระสำคัญกำหนัดบุคคลที่พ้นจากการเป็นข้าราชการไม่ว่ากรณีใดต้องย้ายออกจากบ้านพัก

นอกจากนี้ใน ข้อ 15.1 ยังระบุด้วยว่า กรณีที่ออกจากราชการไม่ว่ากรณีใด จะต้องย้ายออกจากบ้านพัก ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง

ผู้สื่อข่าว-ข้อสังเกตคดีบ้านพักทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ คือ กรณีที่กองทัพบกต้องส่งข้อชี้แจงถึง 2 ครั้ง ในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่าน ผบ.ทบ. ถึง 2 คน ซึ่งใช้เวลาถึง 9 เดือน กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีการพิจารณา โดยมีรายงานข่าวว่า กองทัพบก พยายามชี้แจงถึง “ข้อยกเว้น” ในการเข้าพักบ้านพักทหาร

ขณะที่ประเด็นทางกฎหมาย ต้องรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถึงกรณีที่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ห้าม นายกฯ และรัฐมนตรี “รับประโยชน์ใด” ซึ่งข้อความนี้จะหมายถึงการเข้าพักบ้านพักทหารโดยไม่ได้เสียค่าใช่จ่ายด้วยหรือไม่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง