เทียบ กม.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 2491 และ 2561

การเมือง
29 พ.ย. 63
10:41
16,216
Logo Thai PBS
เทียบ กม.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 2491 และ 2561
ตลอดสัปดาห์นี้ การจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ถูกพูดถึงในวงกว้าง ส่วนหนึ่งเพราะผู้ชุมนุมนัดหมายจะไปชุมนุมหน้าสำนักงานทรัพย์สินฯ แม้จะเปลี่ยนไปชุมนุมที่หน้าธนาคารไทยพานิชย์ สำนักงานใหญ่ แต่ก็เชื่อมโยงในเชิงสัญลักษณ์

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เคยชี้แจงวัตถุประสงค์กฎหมายใหม่ หลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ปี 2560

ในคำชี้แจงเรื่อง การเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระบุถึงการรวมทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าด้วยกัน "ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์จะต้องกลับคืนมาอยู่ในความเป็นเจ้าของและการดูแลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อที่จะทรงจัดการทรัพย์สินนั้นตามพระราชอัธยาศัยต่อไป สำหรับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ใดที่เดิมเป็นชื่อของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เช่น การมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด จึงต้องเปลี่ยนเป็นพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว"

 

เหตุผลหนึ่งที่เปลี่ยนชื่อความเป็นเจ้าของของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว "เพื่อให้ทรัพย์สินนั้นอยู่ในบังคับของกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร และต้องมีภาระเสียภาษีอากรเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป อันเป็นการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์"

เอกสารดังกล่าวระบุอีกว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสวนพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบูรพมหามหากษัตริยาธิราชเจ้าที่ได้ทรงสร้างคุณูปการให้แก่ประเทศไทย ด้วยการก่อตั้งกิจการต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศไทยมีฐานะมั่นคงสามารถดำเนินกิจการด้วยคนไทยและแข่งขันกับต่างประเทศได้ เช่น กิจการธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งพัฒนาขึ้นจาก บริษัท แบงก์สยามกัมมาจลทุนจำกัด"

หลังจากกฎหมายจัดระเบียบทรัพย์สินฯ ใหม่ ประกาศใช้ รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ได้เปลี่ยนตามคำชี้แจงของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

เอกสารชี้แจงของสำนักงานทรัพย์สินฯ ระบุว่า "การใช้พระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการที่เดิมใช้ชื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทำให้ทรงสามารถมอบหมายข้าราชบริพารหรือผู้ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทดูแลกิจการต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้กิจการเหล่านี้ดำเนินการอยู่ในกรอบการบริหารกิจการที่ดีตามพระราชประสงค์"

ขณะที่คณะกรรมการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้เปลี่ยนตามกฎหมายใหม่ ได้แก่ พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ประธานกรรมการและผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์, นายเกษม วัฒนชัย กรรมการ, นายกฤษณ์ กาญจนกุญชร กรรมการ, พ.ท.สมชาย กาญจนมณี กรรมการ, พ.ต.อ.ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม กรรมการ, พล.อ.อ.อำนาจ จีระมณีมัย กรรมการ, พล.อ.จักรภพ ภูริเดช กรรมการ, พล.อ.ท.ภักดี แสง-ชูโต กรรมการ, พล.ร.อ.ปวิตร รุจิเทศ กรรมการ, นายอำพน กิตติอำพน กรรมการ และ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ กรรมการ

 

ในปี 2561 รัฐบาล คสช. ออก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งตัดคำว่า "ฝ่าย" ออกไป แต่สาระสำคัญใกล้เคียงกับฉบับเดิม คือ รวมทรัพย์สินเรียกว่า "ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์"

ผลอีกด้านหนึ่งของการแก้ไขกฎหมาย คือ การพระราชทานโฉนดที่ดินจำนวนมากให้กับหน่วยงานราชการ เช่น พระราชทานโฉนดที่ดินให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 2491 ที่ใช้มาอย่างยาวนาน แยกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ หรือทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วก่อนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ, ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน เช่น พระราชวัง และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือทรัพย์สินนอกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติ คือ ที่ดิน เงินลงทุนในบริษัทต่าง ๆ

เมื่อเปรียบเทียบ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ 2491 กับ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ 2561 จะคงเหลือแค่ทรัพย์สินในพระองค์กับทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ และทั้ง 2 ส่วนรวมเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งกฎหมายปี 2561 ยังเพิ่มข้อความ "การจัดการ การดูแลผลประโยชน์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย" ขณะที่ปี 2491 ระบุว่าให้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ดูแล

 

นอกจากนี้ กฎหมายปี 2491 ระบุว่า ทรัพย์สินส่วนพระองค์ต้องเสียภาษี ยกเว้นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ส่วนปี 2561 ระบุว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ต้องเสียภาษีตามกฎหมาย อีกหนึ่งข้อแตกต่าง คือ กฎหมายปี 2491 ระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยตำแหน่ง ขณะที่ปี 2561 ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งทั้งหมดตามพระราชอัธยาศัย

ข้อถกเถียงขณะนี้ คือ การใช้กฎหมายจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ใหม่ ที่รวมทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ หรือควรใช้ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ปี 2491 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับเดิมที่ใช้ตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ย้อนประวัติศาสตร์-ข้อถกเถียง "ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์" 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง