ถอดสลัก “ความขัดแย้ง” ปมข้อเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบันฯ”

การเมือง
30 พ.ย. 63
09:41
5,788
Logo Thai PBS
ถอดสลัก “ความขัดแย้ง” ปมข้อเรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบันฯ”
ฟังมุมมอง ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ และจุดสมดุลของการเมืองไทย

นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประเมินข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ และจุดสมดุลของการเมืองไทย ผ่านรายการ "ห้องข่าว ไทยพีบีเอส NEWSROOM" 

ถาม : หากดูจากการชุมนุมของกลุ่มราษฎรตั้งแต่เริ่มต้นจากเดิมชื่อว่า แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม หากนับตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.63 จนมาถึงตอนนี้ก็ประมาณ 4 เดือน เห็นการยกระดับการชุมนุมที่ความถี่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับข้อเรียกร้องต่างๆ อาจรย์ประเมินสถานการณ์อย่างไร   

ไชยันต์ : แน่นอนว่า ฝ่ายชุมนุมขณะนี้เมื่อชุมนุมยืดเยื้อก็จะเหนื่อย สังเกตได้ว่าตลอดระยะเวลา 4 เดือน สถานการณ์มีลักษณะน้ำขึ้นน้ำลง บางฝ่ายได้เปรียบ คือ ได้ความชอบธรรมและกระแสจากสังคมทั่วไป ซึ่งจะมีลักษณะขึ้น-ลง แต่สังเกตได้ว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจะยกระดับความเข้มข้นในการแสดงออกหรือเรียกร้อง เช่นที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีการพ่นสี

ขณะที่การเรียกร้อง เช่น การลาออกของนายกฯยังไม่ได้ ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ผ่านการลงมติในสภาฯไปแล้ว ทั้งในส่วนของ ส.ส. และ ส.ว. แต่จะเป็นที่พอใจของผู้ชุมนุมหรือไม่ ยังไม่มีคำตอบว่าพอใจหรือไม่พอใจ ก็ยังยืนยันว่าจะต้องปฏิรูปสถาบันฯ ซึ่งก็จะเกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรายังไม่รู้หรอกว่ายังไม่ทราบได้ว่าฝ่ายใดจะได้รับชัยชนะ หรือว่าฝ่ายไหนจะเสียหรือ ต้องยอมแค่ไหน

อยากให้คิดว่าปัญหานี้ ขออนุญาตสำหรับบางท่าน ถ้าผมต้องบอกว่านี่ เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งหลายท่านอาจไม่พอใจ ในการใช้วาจา ข้อเขียน พยายามที่จะแสดงออกอย่างล้อเลียนสถาบันฯ จาบจ้วง ซึ่งการแสดงออกทางการเมืองนี่ เอาเป็นเรื่องการชุมนุมก่อนยังไม่พูดเรื่องเนื้อหาบางอย่าง เป็นเรื่องธรรมดาของระบอบประชาธิปไตย โดยฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายผู้ชุมนุม ฝ่ายประชาชน เข้าใจร่วมกันว่า เราจะอยู่ภายใต้ของครรลองประชาธิปไตย ก็แปลว่าเราต้องยอมรับว่าการชุมนุมเป็นเรื่องปกติ

ถาม : จริง ๆ สังคมไทยผ่านการชุมนุมมประท้วงมาต่อเนื่องตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุคพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยุค นปช. หรือ กปปส. แล้วก็มาถึงกลุ่มเยาวชนปลดแอก และกลุ่มราษฎร ในแง่หนึ่งคนไทยก็อาจจะชิน แต่ครั้งนี้อย่างที่อาจารย์บอกว่าไปแตเรื่องของสถาบันฯ การปฏิรูปสถาบันฯ ข้อเรียกร้องต่าง ๆ มันก็คงทำให้คนรู้สึกอดตกใจไม่ได้ สำหรับคนที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง   

ไชยันต์ :  มันก็จริงอยู่ว่าน่าจะเคยชิน แต่ก็ไม่ชินกับการแตะต้องสถาบันฯ แต่ก็อยากจะชวนให้คิดว่า ไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะหรือแพ้ ให้รู้สึกว่าเราปรับตัวไปอยู่ในสภาพนิวนอร์มัลทางการเมือง

ถาม : หมายถึงว่า คนในสังคมต้องยกระดับ และยอมรับว่า รูปแบบการประท้วงแบบนี้เกิดขึ้นได้ พร้อมทั้งข้อเรียกร้องเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้  

ไชยันต์ :  ครับ เป็น นิวนอร์มัลทางการเมือง โดยขอให้เลิกคิดเรื่องรัฐประหาร ให้ตัดทิ้งไปเลยเพราะการรัฐประหารไม่ใช่คำตอบแล้ว ซึ่งประชาชนทุกฝ่ายไม่ควรที่จะเรียกร้อง

ถาม : หมายความว่ารัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคง ต้องยอมรับสมการ ต้องจุดนนี้ ว่าไม่ควรแก้ไขปัญหาด้วยการทำรัฐประหาร และประชาชนไม่ควรที่จะเรียกร้อง 

ไชยันต์ :  ประชาชนทุกฝ่ายไม่ควรที่จะเรียกร้อง ผมมีความกังวลใจจริง ๆ ว่า เป้าหมายของกลุ่มผู้ชุมนุม คือ อะไรแน่ สมมติว่าต้องการปกิรูปสถาบัน แน่นอนข้อเรียกร้อง 10 ข้อ หลายข้อก็เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมาย หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ควรจะดูว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้น หรือ สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่จะมีการเลือก ส.ส.ร.ก็ควรที่จะไปรณรงค์ในจุดนั้นไม่ใช่การไปเรียกร้องบนท้องถนนเพื่อให้เกิดการปฏิรูป ซึ่งต้องผ่านสภาฯ

กำลังคิดว่า การยกระดับความรุนแรงทางภาษา การล้อเลียนอย่างเข้มข้น ด้อยค่าอย่างรุนแรง เป็นการที่ต้องการให้มีใครมากระทำความรุนแรงกับเขาหรือไม่ หรือ พยายามทำให้เกิดการรัฐประหารหรือไม่ เพราะการทำรัฐประหารซึ่งเฉพาะหน้าความเสียหายคือ พวกเขาจะถูกควบคุมฝูงชน แต่ว่าความเชื่อมั่นของรัฐบาลและประเทศจะแย่ลง และอาจจะมีการกล่าวอ้างว่า ผู้อยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหารคือ สถาบันพระมหากษตริย์ ซึ่งพวกเขามีการพูดเช่นนี้ตลอด เท่าที่ผมติดตามข้อมูล

ถาม : ถ้าให้เดาใจกลุ่มผู้ออกมาประท้วงซึ่งจากที่เห็นก็จะเป็นคนรุ่นหนุ่มสาว ที่เชื่อมต่อถึงกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ใช้ข้อความทวิตเตอร์ และแฮชแท็กต่าง ๆ สื่อสาร และข้อความที่ผู้ใหญ่เห็นแล้วก็อาจจะตกใจ คนที่คุ้นชินกับระบบที่ผ่านสภาบันฯก็จะตกใจกับข้อความที่เกิดขึ้น ประเมินว่าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้อย่างไร   

ไชยันต์ : ต้องทำความเข้าใจว่าเขาคือเยาวชน และนักศึกษา ซึ่งอาจไม่มีประสบการณ์โดยตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ฉะนั้นสิ่งที่พวกเขารับรู้ต้องผ่านตัวหนังสือ ผ่านข้อมูล และต้องยอมรับข้อมูลที่เขาเสพ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางวิชาการหรือข้อมูลทั่วไป กระแสที่เกิดขึ้นในสื่อสังคมออนไลน์ก็จะออกมาในทิศทางเดียวกัน ก็จะพยายามชี้ให้เห็นว่าปัญหาทั้งหมดอยู่ที่สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เบื้องหลังแทรกแซงทางการเมืองมาโดยตลอด อาจจะย้อนตั้งแต่สมัย 2490 อิทธิพลของสถาบันพระมหากษตริย์ ซึ่งมีงานวิชาการชุดหนึ่งที่พร้อมเพรียงจะเขียนมันออกมา และครุ้่นใหม่อยู่ภายใต้ข้อมูลชุดนี้ ขณะเดียวกันฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายสถาบัน ก็ไม่พยามยามที่จะอธิบาย ว่าความเป็นจริงเป็นอย่างไร

ขณะที่ด้วยวัยของเยาวชน หรือ (Generation Cap) ความขัดแย้งระหว่างวัยมันเกิดขึ้นเสมอ ซึ่งความคับข้องใจของเยาวชนต่อเรื่องราวต่าง ๆ รอบตัวในเรื่องที่มันเป็นระเบียบเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัยของคนหนุ่มสาว แต่มันถูกทำให้สามารถประสานความคับข้องใจ ของเยาวชนในแนวระนาบ มารวมกับตรงนี้ แล้วถูกทำให้เป็นเรื่องการเมือง และถูกทำให้เข้าใจว่าสาเหตุของการเช่น ระเบียบการไว้ผม การคุกคาม เครื่องแบบ ตำรา ทั้งหมดเป็นสาเหตุจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม เป็นสาเหตุจากสถาบันพระมหากษตริย์ เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ควรจะหาความจริงว่า ความจริงคืออะไร พยายามทำให้เข้าใจว่า ระเบียบเรื่องเครื่องแต่งกาย ผม หรืออะไร ต่าง ๆ การเป็นอีกส่วนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์

ถาม : หมายถึงว่า ควรที่จะไปสืบค้นข้อเท็จจริงในแต่ละประเด็น เพื่อให้ผู้ชุมนุมเข้าใจควรจะเป็นหน้าที่ของใคร หรือ ต้องเป็นผู้ชุมนุมเองที่ต้องหาข้อเท็จจริง

ไชยันต์ : ถ้าเขาไปหาข้อเท็จจริงเอง ประเด็นคือ เมื่อเขาเปิดเขาไปในสื่อสังคมออนไลน์ก็จะไปพบกับข้อมูลชุดนั้นที่เผยแพร่ กระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งทางการนี่แหละที่ควรจะเรียกมา แล้วจัดประชุมร่วมกัน ประเด็นข้อที่จะศึกษา หรือที่เยาวชนหรือกลุ่มผู้ชุมนุมเขาตั้งข้อประเด็นขึ้นมา ต้องยอมรับว่าเขามีข้อสงสัย เราจะตอบอย่างไร แต่ถ้าเผชิญกันแล้ว ความจริงก็จะเป็นตัวแก้ไขปัญหาวิกฤต แต่มันเจ็บปวด

ถาม :  อาจารย์ว่า มันจะเป็นไปได้จริงหรือไม่ในทางปฏิบัติ

ไชยันต์ : ต้องเป็นให้ได้เพราะไม่เช่นนั้นจะคาราคาซัง ขอโทษนะครับ สมมติหากมีคนเสพข้อมูลนี้ไปเรื่อย ๆ เขาอาจจะขยายวงได้นะ ขยายวงความเชื่อ ที่นี้ฝ่ายจงรักกักดี มีแต่ความศรัทธา ความรัก เทิดทูน แต่อีกฝ่ายบอกว่าเขามีข้อมูลตรงนี้ ทำไมฝ่ายจงรักภักดีไม่เห็นหรอ นี่คือเหตุผลที่เขาออกมา ก็ต้องชี้ให้เห็นว่าเหตุผลของคุณมันมี (footnote เชิงอรรถ) รองรับ และไม่เคยดู footnote ว่ามันมีการตีความเกินไปหรือเปล่า

ถาม :  กระบวนการเหล่าเกิดขึ้นจริง จะเท่ากับการทบทวนประวัติศาสตร์และสร้างความจริงชุดใหม่ ที่คนในสังคมปัจจุบันยอมรับหรือไม่

ไชยันต์ : ใช่ แล้วผมบอกได้เลยว่า ฝ่ายที่วิพาษก์วิจารณ์ สถาบันกษัตริย์รุนแรง ประวัติศาสตร์ของคุณเนี่ย กับประวัติศาสตร์ของฝั่งอนุรักษ์ ประวัติศาสตร์ของทั้ง 2 ฝั่งต้องยอมรับความจริงว่า เราไม่ได้เดินในทุ่งลาเวนเดอร์ มันเจ็บปวดทั้งนั้นเลย


ถาม : คือการเปิดเผยถกเถียงผ่านชุดข้อมูล แต่อีกด้านคือ มีข้อกังวล หากไม่มีเวทีมาคุยกันแบบนี้อย่างจริงจัง ซึ่งอาจะเป็นเรื่องใหญ่ที่หากจะจัดกันได้อย่างจริง ๆ และมีผู้ที่จะรับฟังอย่างจริงจังหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่มีการรับฟัง หรือจะต้องจบด้วยการนองเลือด สูญเสียกันอีก

ไชยันต์ :  อย่างที่ผมพูด ถ้าเราตัดเรื่องรัฐประหารไป แล้วผู้ชุมนุมอาจขยับการชุมนุมที่ยั่วยุมากขึ้น ก็หมายความว่า รัฐบาลก็ทำหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย จะช้าบ้าง เร็วบ้างก็ใช้ จะใช้มาตรา 112 ก็ใช้ไป เพราะศาลจะเป็นคนตัดสิน แต่มาตรา 112 เนี่ย ถ้าใช้ได้ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ไม่ใช่การใช้ในลักษณะการกลั่นแกล้ง

ถาม : อย่างที่อาจารย์บอกว่า มันเป็นเรื่องของความเจ็บปวดซึ่งขึ้นอยู่กับว่าเราจะยอมรับได้มาก-น้อยแค่ไหน ซึ่งประวัติศาสตร์หลายเรื่องบนโลกนี้ก็ยังไม่มีการชำระ ซึ่งหากนำมาพูดกันจริงๆ ก้อาจจะเต็มไปด้วยความเจ็บปวด เพราะฉะนั้นก็น่าจะเป็นโจทย์ยาก แต่เราต้องไม่ละทิ้งความหวังใช่มั้ยคะ

ไชยันต์ :  อย่างน้อยทุกฝ่ายก็ต้องตั้งสติว่า ตกลงแล้วที่ผ่านมาทำอะไรกันไปบ้าง เพราะรู้ว่าทุกคนอยากจะเปิด ไม่ใช่ว่าผู้ชุมนุมอยากจะเปิดโปง ฝ่ายนักวิชาการอย่างพวกผมก็อยากจะเปิดโปงเหมือนกัน

แต่อย่างที่ อาจารย์บอกไว้ว่า รัฐประหารไม่ควรที่จะเกิดขึ้นแล้ว เพราะที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาทางการเมือง   หรือไม่สามารถแก้ปัญหาที่จะปลดล็อกทางการเมืองได้ สังคมไทยก็จะเหลือบทพิสูจน์ว่าจะทดสอบความมีน้ำอดน้ำทน ในการรับฟังกันทุกฝ่ายในช่วงเวลานี้จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ 

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง