"เทอดพงษ์-นิโรธ-สรอรรถ" ร่วมวงกรรมการสมานฉันท์

การเมือง
7 ธ.ค. 63
09:43
393
Logo Thai PBS
"เทอดพงษ์-นิโรธ-สรอรรถ" ร่วมวงกรรมการสมานฉันท์
พรรคร่วมรัฐบาลส่ง "นิโรธ-สรอรรถ-เทอดพงษ์" ร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยสัดส่วนนักวิชาการรอที่ประชุมอธิการบดีคัดเลือกช่วงปลายเดือน ธ.ค.นี้ คาดประชุมนัดแรก ม.ค.2564

วันนี้ (7 ธ.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ส่งหนังสือเชิญร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ยังอยู่ระหว่างการตอบรับและส่งรายชื่อบุคคลที่เป็นตัวแทนเข้าร่วม เบื้องต้น ส.ส.ฝ่ายค้านยังไม่ได้ตอบรับหรือส่งรายชื่อร่วม ส่วน ส.ส.รัฐบาล มีรายชื่อนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และนายสรอรรถ กลิ่นประทุม ที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย ส่วนตัวแทน ครม. และ ส.ส.ฝ่ายค้าน ยังไม่ส่งรายชื่อ

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เสนอชื่อนายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งสัดส่วน ส.ส.รัฐบาลมี 2 คน แต่มีรายชื่อเสนอมา 3 คน ซึ่งอยู่ที่ดุลพินิจของประธานรัฐสภาว่าจะเพิ่มสัดส่วนได้หรือไม่

ขณะสัดส่วนจากผู้ทรงคุณวุฒิ นายคุณวุฒิ ตันตระกูล รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า จะมีการประชุมเพื่อคัดเลือกตัวแทนจากแต่ละฝ่ายช่วงปลายเดือน ธ.ค.นี้ จากนั้นจะส่งชื่อไปยังสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทั้งจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย 3 คน, ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 1 คน และที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล

ส่วนตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิด้านการปรองดอง ตัวแทนผู้ชุมนุม และตัวแทนกลุ่มผู้มีความเห็นอื่น นายคุณวุฒิ ระบุว่า เมื่อมีการประชุมคณะกรรมการแล้ว จะขอความเห็นในที่ประชุมว่าจะส่งหนังสือถึงบุคคลใดบ้าง โดยคาดว่าจะประชุมนัดแรกช่วงหลังปีใหม่ หรือในเดือน ม.ค.2564

ด้านนายนิโรธ สุนทรเลขา แสดงความพร้อมในฐานะตัวแทนของ ส.ส.รัฐบาล ที่เข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ ยืนยันจะหาวิธีการพูดคุยที่นำไปสู่ความปรองดอง และยังคาดหวังให้กลุ่มผู้ชุมนุมส่งตัวแทนร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ ซึ่งจะเป็นเวทีกลางพูดคุยและหาทางออกของปัญหาต่างๆ โดยจะมีนักวิชาการเข้าร่วมด้วย และเชื่อมั่นว่าการพูดคุยผ่านคณะกรรมการชุดนี้จะสำเร็จบรรลุเป้าหมาย

ฝ่ายค้านปฏิเสธร่วม คกก.สมานฉันท์

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ย้ำถึงมติของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ไม่ส่งตัวแทน 2 คน เข้าร่วมพูดคุย เพราะคู่ขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้ชุมนุมควรพูดคุยกันโดยตรง มากกว่าที่จะให้รัฐสภาเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อน

พร้อมระบุว่า ฝ่ายค้านยินดีที่จะทบทวนหาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นเงื่อนไขของปัญหาความขัดแย้ง ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี และยืนยันว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ได้เล่นเกมการเมือง หรือต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง และเห็นว่าการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นการยื้อเวลาบริหารประเทศของรัฐบาลเท่านั้น

ส่วน นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เชื่อว่า การปฏิเสธเข้าร่วมพูดคุยของพรรคร่วมฝ่ายค้าน จะไม่ติดขัดหรือเกิดปัญหาความล่าช้าในการขับเคลื่อน เพราะประธานสภาผู้แทนราษฎรระบุว่า มีแค่ไหนก็ทำงานแค่นั้น แต่ยอมรับว่าเสียดายที่ถูกปฏิเสธเข้าร่วม พร้อมชี้ว่าคณะกรรมการชุดนี้มีทุกฝ่าย ทั้งที่เป็นคู่ขัดแย้ง หรือคนที่เป็นกลาง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง