ไทยโกยรายได้ 4,500 ล้านบาทช่วยคนมีบุตรยาก

สังคม
8 ธ.ค. 63
13:07
228
Logo Thai PBS
ไทยโกยรายได้ 4,500 ล้านบาทช่วยคนมีบุตรยาก
สบส.เผยปี 62 ไทยโกยรายได้จากการรักษาผู้มีบุตรยากกว่าที่เดินทางมาใช้บริการสร้างรายได้ 4,500 ล้านบาท โดยมีอัตราสถานพยาบาลรักษาผู้มีบุตรยากทั้ง 102 แห่ง พร้อมมีกฎหมายคุ้มครองสร้างความเชื่อมั่น เตือนผู้รับจ้างอุ้มบุญมีความผิด

วันนี้ (8 ธ.ค.2563) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า จากการสำรวจเชิงสถิติของสบส.พบว่าในปี 2562 การให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 4,500 ล้านบาท โดยมีสถานพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐานการให้บริการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ 102 แห่ง มีอัตราความสำเร็จในการให้บริการตั้งครรภ์โดยเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 46 มีการให้บริการทำเด็กหลอดแก้วกว่า 20,000 รอบการรักษา การผสมเทียมกว่า 12,000 รอบการรักษา และอนุญาตให้ตั้งครรภ์แทน หรือที่เรียกกันว่าอุ้มบุญแล้วกว่า 400 คน

ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นหลักฐานของความสำเร็จ ยืนยันให้เกิดความเชื่อมั่นแก่คู่สมรสว่าการรับบริการเทค โนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์จากสถานพยาบาลไทย จะช่วยให้คู่สมรสสามารถมีบุตรได้ตามที่หวัง ช่วยลดปัญหาอัตราเกิดที่ลดลงรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต

เตือนห้ามรับจ้างอุ้มบุญ 

ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส.กล่าวว่า นอกจากความก้าวหน้าของวิทยาการแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันทางการแพทย์ของประเทศไทย ได้รับความเชื่อมั่นจากชาวไทยและชาวต่างประเทศ ก็คือการมี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ควบคุม กำกับการใช้เทคโนโลยีฯ ให้มีความถูกต้อง เป็นไปตามมาตรฐาน มีการกำหนดสิทธิ์และคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยเทคโนโลยี รวมทั้งส่งเสริมให้มีการวิจัยเพื่อพัฒนามาตรฐานการบริการให้ดียิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามหากมีการกระทำผิด ก็จะมีบทลงโทษผู้กระทำผิดอย่างชัดเจน อาทิ หากผู้ใดรับจ้างอุ้มบุญ มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ซื้อ-ขายอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นนายหน้าชี้ช่องทางให้มีการรับตั้งครรภ์แทน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่ง สบส.อยู่ระหว่างทบทวนปรับแก้กฎหมาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นำรายได้เข้าสู่ประเทศไปไทย และเพิ่มการเข้าถึงบริการในการรักษาผู้มีบุตรยากต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง