"ศิริราช" ชี้ตัวเลขลักลอบเข้าไทยไม่ชัด ประเมิน COVID-19 ระบาดยาก

สังคม
8 ธ.ค. 63
11:54
1,534
Logo Thai PBS
"ศิริราช" ชี้ตัวเลขลักลอบเข้าไทยไม่ชัด ประเมิน COVID-19 ระบาดยาก
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุยังไม่สามารถคาดการณ์ความรุนแรงของการระบาดCOVID-19 อีกครั้งได้ เพราะยังไม่ทราบตัวเลขผู้ที่ลักลอบเข้ามาในไทยได้ชัดเจน และอากาศที่เย็นลงเป็นหนึ่งในปัจจัยเสริมที่จะเกิดการระบาดได้

วันนี้ (8 ธ.ค.2563) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรค COVID-19 อีกครั้ง หลังพบมีผู้ติดเชื้อในไทยที่กลับมาจากประเทศเมียนมารายใหม่เพิ่มขึ้น โดยเห็นว่า สถานการณ์ขณะนี้กำลังจะเข้าสู่การแพร่ระบาดในช่วงที่มีแรงงานกลับมาจากรัฐยะไข่ ทางใต้ของประเทศในช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยเสริม ที่ทำให้การแพร่ระบาด ที่จะทำให้มีผู้ติดเชื้อมากขึ้น โดยเฉพาะสภาพอากาศที่เย็นลง ทำให้ส่วนใหญ่จะพักอยู่ในอาคารที่ปิด อากาศไม่ถ่ายเท และไม่สวมหน้ากากอนามัยภายในอาคาร

รวมทั้งสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ในประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มกลับมารุนแรงอีกครั้ง และมีการชุมนุมรวมตัวของผู้คนมากขึ้น ซึ่งอยากให้หลีกเลี่ยงการชุมนุมเพราะไม่สามารถรู้ประวัติการเดินทางของแต่ละคนได้

สำหรับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ G-614 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่นั้นพบว่า มีการแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าสายพันธุ์เดิมและภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ จะเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น

หากมีการเคลื่อนที่ของผู้ที่ติดเชื้อ ยังไม่รู้ตัว และไม่ได้กักตัว จะทำให้การแพร่ระบาดไปที่อื่นๆ เพิ่มสูงขึ้น เพราะขณะนี้ยังไม่รู้จำนวนตัวเลขที่แท้จริงของผู้ที่ไปเมียนมา และลักลอบเข้ามาในประเทศ จึงยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า สถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิมแค่ไหน

ส่วนอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อจากทั่วโลก เชื่อว่าไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเพียงอย่างเดียว แต่เกิดขึ้นจากศักยภาพการรองรับของสถานพยาบาลในที่ต่างๆ ด้วย

ซึ่งในบางประเทศไม่มีพื้นที่รองรับเพียงพอ ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อไม่ได้รับการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพมากนัก ทำให้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว แต่สถานการณ์ในช่วงนี้ ยังถือว่าเป็นเพียงการติดเชื้อธรรมดา เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อในแต่ละวันยังไม่มากนัก แต่หากเริ่มขยับขึ้นเป็นวันละ 2-3 เท่าตัวก็จะถือว่าเป็นการแพร่ระบาดของโรค

สำหรับการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค ข้อมูล ณ วันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า บริษัทที่ผลิตวัคซีนในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ถูกสั่งจองทั้งหมดแล้ว และบางประเทศจองวัคซีนจำนวนเกินกว่าบุคคลในประเทศ

ส่วนการนำมาใช้ในประเทศไทยประมาณ 20 ล้านโดสนั้น หลังจากนำเข้ามาแล้ว จะต้องผ่านการทดสอบจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อีกอย่างน้อย 4 เดือน ถึงจะนำมาใช้ได้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ประมาณเดือน พ.ค.ปีหน้า

ศ.นพ.ประสิทธิ์ ยังระบุว่า แม้จะมีวัคซีนป้องกัน COVID-19 แล้วแต่ก็ยังไม่มีวัคซีนตัวไหนที่จะป้องกันโรคได้ 100 เปอร์เซนต์ การที่จะป้องกันได้ดีที่สุดคือ ต้องดูแลตัวเอง ด้วยการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือการยกการ์ดขึ้นอีกครั้ง

ขณะนี้กลุ่มผู้ประกอบการ จะต้องกลับมาเน้นย้ำมาตรการที่เคยปฏิบัติมาแล้วก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะการเช็คอิน-เช็คเอ้าท์ ก่อนเข้าออกร้านเพื่อที่จะติดตามตัวได้

เรื่องนี้แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่หากละเลยสิ่งที่คุ้นเคยก็จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ขึ้นมาอีกได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง