สธ.เฝ้าระวังการใช้ยาเสพติด "น้ำกระท่อม-ยาเค" ร่วมกันอันตราย

สังคม
9 ธ.ค. 63
09:27
1,321
Logo Thai PBS
สธ.เฝ้าระวังการใช้ยาเสพติด "น้ำกระท่อม-ยาเค" ร่วมกันอันตราย
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลตรวจพิสูจน์ยาเสพติดในของกลางน้ำกระท่อม พบมีการใช้ร่วมกับยาเค ซึ่งถือเป็นการตรวจพบการใช้ยาเสพติดร่วมกันรูปแบบใหม่

วันนี้ (9 ธ.ค.2563) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่ามีการนำพืชกระท่อมมาต้มเป็นน้ำต้มพืชกระท่อม และนำใช้ในทางที่ผิดในหมู่วัยรุ่น ผสมกับสารอื่นๆ ซึ่งรู้จักในชื่อสี่คูณร้อย ส่วนใหญ่พบมีการใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน เช่น ยาแก้แพ้ ทำให้ง่วงซึม เช่น ไดเฟนไฮดรามีน และคลอร์เฟนิรามีน ยาแก้ปวด ทำให้เกิดอาการหลอน เช่น ทรามาดอล หรือวัตถุออกฤทธิ์ เช่น อัลปราโซแลม และโคลนาซีแพม เมื่อผสมเข้าด้วยกันแล้วจะออกฤทธิ์ทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายในระยะยาว จำเป็นต้องมีมาตรการควบคุมโดยใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากพืชกระท่อมจัดเป็นยาเสพติดให้โทษ

จากข้อมูลการตรวจพิสูจน์คดีน้ำต้มพืชกระท่อม ของสำนักยาและวัตถุเสพติด ในปีงบประมาณ 2563 รวมทั้งสิ้น 196 คดี จำนวน 546 ตัวอย่าง พบตัวอย่างได้รับจากเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการใช้น้ำต้มพืชกระท่อมร่วมกับคีตามีน จำนวน 4 ตัวอย่าง ปริมาตรรวม 10.530 ลิตร โดยคีตามีน (Ketamine) หรือที่รู้จักกันในหมู่ผู้ใช้ยาเสพติดว่า “ยาเค” ซึ่งจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ ในทางการแพทย์ใช้เป็นยาสลบหรือระงับปวด

 

นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า การใช้คีตามีนจะทำให้สูญเสียความทรงจำ มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตและประสาทหลอนได้ มักพบการใช้คีตามีนในทางที่ผิดร่วมกับยาอี เพื่อหวังฤทธิ์การหลอนประสาท เมื่อนำมาผสมกับน้ำต้มพืชกระท่อมและรับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการทางจิตและเสพติด การใช้คีตามีนในขนาดที่สูงจะทำให้อาเจียน ชัก สมองและกล้ามเนื้อขาดออกซิเจน และเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ การตรวจพบการใช้น้ำต้มพืชกระท่อมร่วมกับคีตามีน ในตัวอย่างของกลางที่ส่งมาตรวจยังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มสถานการณ์การใช้ยาเสพติดร่วมกันรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนในประเทศ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง