แผนฟื้นฟู ขสมก. หลุดเป้า เลื่อนส่งมอบรถออกไปอีก 2 เดือน

เศรษฐกิจ
9 ธ.ค. 63
13:54
237
Logo Thai PBS
แผนฟื้นฟู ขสมก. หลุดเป้า เลื่อนส่งมอบรถออกไปอีก 2 เดือน
แผนฟื้นฟู ขสมก. หลุดเป้า เลื่อนส่งมอบรถโดยสารไฟฟ้าออกไปอีก 2 เดือน หลังรอความเห็น “ก.คลัง-สภาพัฒน์ฯ” ด้าน “พล.อ.ประยุทธ์” สั่งเลขา ครม. เร่งดำเนินการ “ศักดิ์สยาม” หวั่นเสียโอกาส ปชช.ใช้บริการไม่มีคุณภาพ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน ทั้งในส่วนของกระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งประเมินว่า ในปัจจุบันการดำเนินการแผนฟื้นฟูดังกล่าว ได้ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งถึงแม้ ครม.จะมีมติเห็นชอบภายใน ธ.ค.63 นั้น ขสมก.จะเริ่มทยอยรับรถโดยสารไฟฟ้า (EV) ล็อตแรก จำนวน 400 คัน ในช่วง พ.ค.64 จากเดิมจะเริ่มทยอยรับ มี.ค.64 และครบจำนวน 2,511 คันใน 7 เดือน (ก.ย.64) ขณะเดียวกัน หากยังเลื่อนออกไปอีกก็ขยับกรอบระยะเวลาออกไปอีกด้วย

ทั้งนี้ จากความคืบหน้าดังกล่าว ได้เรียนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้วและนายกฯ ได้สั่งการให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรีเร่งดำเนินการต่อไปเนื่องจากได้ส่งเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปประมาณเดือนกว่าแล้ว

ผมก็บอกว่า สิ่งที่เราเสนอไป ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเป็นไปตามที่ ก.คมนาคม เสนอทุกเรื่อง เมื่อมีความเห็นมา เราก็มีหน้าที่อธิบายความเห็นเหล่านั้นและรีบนำความเห็นมาพิจารณาเพราะถ้ารอก็เสียโอกาสหลายเรื่อง ทั้ง ขสมก.ขาดทุนสะสมเพิ่มเรื่อย ๆ ประชาชนก็ได้ใช้บริการที่ไม่มีคุณภาพ แล้วสร้างมลพิษเกิดขึ้นทุกวันจากสภาพรถ ขสมก. ซึ่งขณะนี้รอความเห็นที่ชัดเจนจาก กระทรวงการคลัง ที่มีคำถามเพิ่มขึ้นอีกในเรื่องการบริหารหนี้ และสภาพัฒน์ฯ ซึ่งเราต้องอธิบายให้ได้ จะให้เราอธิบายเรื่องใบ้าง หรืออยากให้ทำอะไรก็บอกมาได้ ถ้าทำไม่ได้ก็ใช้แบบนี้ต่อไป 

นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือการศึกษายานยนต์ไฟฟ้า (EV) ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการยานยนต์ไฟฟ้าว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เสนอผลการศึกษาเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า โดยระบุว่า จะใช้ระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านภายใน 15 ปี ขณะที่กระทรวงคมนาคมได้กำหนดไว้ที่ 20 ปี เนื่องจากจะต้องพิจารณาเรื่องของระเบียบกฎหมาย แผนการส่งเสริมให้มีการเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้า รวมถึงสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าด้วย

ทั้งนี้ จากการหารือพบว่า ข้อมูลมีความสอดคล้องกันแต่คณะอนุกรรมาธิการฯมีความเป็นห่วงเรื่องที่ไทยอาจจะถูกประเทศอื่นเข้ามาแย่งชิงเนื่องจากต่างประเทศมีความได้เปรียบเรื่องการลงทุนสร้างโรงงาน โดยได้ชี้แจงไปว่า เรื่องการสนับสนุนใช้รถไฟฟ้านี้ นายกรัฐมนตรีได้สนับสนุนเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ส่งเสริมการลงทุน

รมว.คมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้เสนอแนะไปยังคณะอนุกรรมาธิการฯ ทำหน้าที่เป็นจุดเชื่อมต่อเพื่อไปแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม, พลังงาน, มหาดไทย, คลัง, สิ่งแวดล้อม และกระทรวงศึกษา ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้รายงานว่ามีแผนจะไปอยู่แล้ว นอกจากนี้ได้ฝากเรื่องของการบริหารจัดการแบตเตอรี่ที่ใช้งานหมดไปแล้ว เนื่องจากมีมลพิษซึ่งจะเป็นปัญหาในภายหลัง

รวมถึงให้ไปศึกษาเรื่องของการจัดตั้งกองทุนเพื่อมาช่วยผู้ประกอบการ เนื่องจากมองว่าเรื่องเหล่านี้มีความสามารถไม่เท่าเทียมกันที่จะเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานไฟฟ้า จากข้อมูลพบว่า การเปลี่ยนเครื่อง EV ราคาคันละ 300,000 บาท ซึ่งต้องพิจารณาว่ามีแนวทางใดบ้างโดยในส่วนของ ก.คมนาคมงสิ่งที่ทำได้ เช่นการลดค่าธรรมเนียมและการต่อใบอนุญาตรถ

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของ ก.คมนาคม จะเริ่มนำร่องการดำเนินการเปลี่ยนไปใช้ EV กับ รถขสมก.รวมถึงรถสาธารณะประเภทอื่นด้วย เช่น รถจักรยานยนต์รับจ้าง รถแท็กซี่ เป็นต้น แต่จะต้องพิจารณาความพร้อม ขณะเดียวกันคณะอนุกรรมธิการฯ ระบุอีกว่า ประเทศไทยมีบริษัทที่สามารถผลิตแบตเตอรี่ได้แล้ว เช่น รถขสมก.มีหลายบริษัทที่สามารถผลิตโดยใช้เวลาทำ 2,500 คัน ภายใน 1 ปี มีเพียงการนำเข้ามอเตอร์และแบตเตอรี่เท่านั้น เนื่องจากกังวลว่า ก.คมนาคมจะปิดกั้นการเข้ามาร่วมประมูลของบริษัทไทย

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมได้กำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคา (TOR)ว่า จะต้องมีการใช้วัสดุในประเทศ (Local Content) อย่างน้อยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 สำหรับมาตรการในการดำเนินการเรื่องยานยนต์ไฟฟ้านั้น ประกอบด้วย 6 ด้าน ได้แก่ 1.มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างอุปทาน (Supply) 2.มาตรการกระตุ้นตลาดในประเทศ (Demand) 3.เตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน 4.การจัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้า 5.การบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว และ 6.มาตรการอื่นๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง