เปิดปม : ชงรื้อโครงการกู้ภัยแล้ง

สังคม
10 ธ.ค. 63
16:35
385
Logo Thai PBS
เปิดปม : ชงรื้อโครงการกู้ภัยแล้ง
หลังจาก ครม.อนุมัติงบประมาณในปี 63 กว่าหมื่นล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมกว่า 2 หมื่นโครงการใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ แต่กลับมีการร้องเรียนถึงข้อพิรุธในการดำเนินโครงการ หนึ่งในนั้นเกิดขึ้นที่ จ.อุดรธานี

อำเภอบ้านดุง ได้รับอนุมัติงบประมาณจากโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ประจำปี 2563 ทั้งหมด 64 โครงการ รวมงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 31 ล้านบาท ถือเป็นอำเภอที่ได้รับอนุมัติโครงการมากที่สุดในจังหวัดอุดรธานี

 

หลังจากดำเนินโครงการได้ไม่นาน เดือนตุลาคม 2563 ชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ยื่นเรื่องร้องเรียนการบริหารงานของ อ.บ้านดุง ไปยังประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โดยตั้งข้อสังเกตหลายประเด็น

ประเด็นแรก คือ แต่ละโครงการถูกแบ่งย่อยเป็นโครงการขนาดเล็ก งบประมาณไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งในทางกฎหมายเปิดช่องให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยให้อำนาจหน่วยงานระดับอำเภอเป็นผู้คัดเลือกผู้รับจ้าง โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการประกวดราคาหรือ e-bidding ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมาถึงความเหมาะสมในการคัดเลือกบริษัท

 

นายโชคเสมอ คำมุงคุณ เลขานุการรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ในฐานะผู้รับเรื่องร้องเรียนจากชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน อ.บ้านดุง ได้รับหลักฐานว่า การอนุมัติงบประมาณภายใต้โครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมทั้งหมด 64 โครงการ มี 14 บริษัท เป็นผู้ได้รับงาน ทั้งหมดเป็นบริษัทที่มาจากนอกพื้นที่ ซึ่งผู้รับเรื่องร้องเรียน มองว่า ผิดวิสัยของการรับงานมูลค่าไม่เกิน 5 แสนบาท

 

ผมก็ไล่ถามบริษัทที่อยู่ในพื้นที่ ไม่มีบริษัทไหนเลยที่ได้เป็นผู้รับจ้าง แล้วก็ทราบอีกว่าหลายบริษัทมาจากต่างจังหวัด บางบริษัทมาจากกรุงเทพฯก็มี ซึ่งมันผิดวิสัย เพราะการทำงานรับจ้างระดับ 5 แสนบาทแล้วต้องขนเครื่องจักรจากกรุงเทพฯ มาอุดรธานี จะเป็นไปได้อย่างไร

ประเด็นต่อมาที่ถูกตั้งคำถาม คือ ในการคัดเลือกบริษัทผู้รับจ้าง มี 3 บริษัทที่มาจาก อ.บ้านดุง แต่ทั้งหมดกลับไม่ได้รับจ้างงาน

ผู้รับเรื่องร้องเรียนได้รับเอกสารหลักฐานที่ระบุว่า ราคาที่บริษัทบางแห่งเสนอไปยังที่ว่าการอำเภอบ้านดุงนั้นต่ำกว่าราคาที่มีการจัดจ้างตามสัญญากว่าร้อยละ 20 แต่กลับไม่ผ่านการคัดเลือก

 

เนื้อหาในเอกสารรายงานการประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาให้ความเห็นการจัดหาผู้รับจ้าง โครงการตามมติคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขและบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยใน อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ซึ่งจัดประชุมไปเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2563 โดยมีปลัดอำเภอบ้านดุง เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการพิเศษเป็นประธานกรรมการ ระบุถึงมติที่ประชุมที่พิจารณาไม่จ้างงานบริษัททั้ง 3 บริษัทใน อ.บ้านดุงว่าเป็นเพราะ บริษัทแรกเคยมีประวัติการรับงานขุดลอกห้วยมาก่อน แต่สร้างความเสียหายโดยขุดล้ำไปยังที่ดินของชาวบ้านจนถูกร้องเรียนให้จ่ายค่าชดเชย

ส่วนบริษัทอีกแห่งหนึ่งมีประวัติการทำงานกับหน่วยงานราชการและส่งงานล่าช้าในปี 2559 จนถูกปรับเงิน

ขณะที่ บริษัทที่ 3 ไม่ได้รับงานเพราะไม่มีหนังสือรับรองผลงานและใบเสนอราคาในวันพิจารณา

นอกจากประเด็นการคัดเลือกบริษัทผู้รับจ้างแล้ว นายวิรัตน์ ชีพจำเป็น ประธานชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ยังตั้งข้อสังเกตถึงแบบของโครงการที่เกี่ยวข้องกับการขุดลอกห้วย เกือบทุกโครงการระบุความกว้างปากบนไว้ที่ 15 ม. ปากล่าง 7 ม. ความลึก 2.5-3 ม.

 

แต่จากการลงพื้นที่ พบว่า ห้วยหลายแห่งใน ต.โพนสูง มีความกว้างเกินกว่า 15 ม. อยู่แล้ว นอกจากนี้ นายวิรัตน์ยังบอกว่า มีหลายโครงการไม่ได้มาจากความต้องการของชาวบ้าน

คือสภาพของลำห้วยมันกว้างและลึกอยู่แล้ว ซึ่งในแบบที่เขียนมามันกว้าง 15 ม. ลึก 2.5 ม. ซึ่งสภาพจริงมันเกินอยู่แล้ว คือโครงการไม่เหมาะสมตั้งแต่แรก ถ้ามีการดำเนินการมันก็เป็นคิวลมทั้งหมด

โครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 11,800 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินโครงการใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ

 

หน่วยงานที่รับผิดชอบ 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมชลประทาน กระทรวงมหาดไทย กรมทรัพยากรน้ำบาดาล, กองทัพบก และกรมเจ้าท่า โดยในส่วนที่อำเภอต่าง ๆ ได้รับมาดำเนินการมีทั้งหมด 18,927 โครงการ งบประมาณ 9,950 ล้านบาท

นอกจาก อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ยังมีอีกหลายจังหวัดในภาคอีสานที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินโครงการในประเด็นคล้ายกัน เช่น ขอนแก่น มหาสารคาม หนองบัวลำภู และนครพนม

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง