โซเชียลกังขา! แบบเรียนแบ่งชนชั้น ยก "นายกฯ - ครม." เป็นชนชั้นสูง

สังคม
11 ธ.ค. 63
15:41
2,428
Logo Thai PBS
โซเชียลกังขา! แบบเรียนแบ่งชนชั้น ยก "นายกฯ - ครม." เป็นชนชั้นสูง
โซเชียลตั้งคำถาม สังคมไทยแบ่งชนชั้น? หลังมีการส่งต่อภาพเนื้อหาแบบเรียน ปวส. เรื่องการแบ่งชนชั้น โดยมีคำระบุถึงนายกฯ และ ครม. เป็นชนชั้นสูง นักวิชาการแนะปรับปรุงแบบเรียน ให้นิยามการแบ่งชนชั้นหลากความหมายเปิดพื้นที่เยาวชนวิเคราะห์สังคมให้มากขึ้น

กลายเป็นประเด็นร้อนในสื่อสังคมออนไลน์ หลังมีการส่งต่อเนื้อหาในหนังสือแบบเรียนตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ของสำนักพิมพ์หนึ่ง ซึ่งอธิบายเกี่ยวกับ ชนชั้นทางสังคม โดยระบุว่า

สังคมไทยมีลักษณะเป็นโครงสร้างแบบชนชั้น โครงสร้างสังคมไทยแบบชนชั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ หรือตั้งแต่สมัยศักดินา และยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน

แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามสังคมสมัยใหม่ ในสมัยศักดินาแบ่งชนชั้นในสังคมเป็น 3 ชั้น คือ เจ้านายและขุนนางชนชั้นไพร่ (หรือสามัญชน) และชนชั้นทาส

แต่ในปัจจุบันนักสังคมวิทยาได้แบ่งเป็นชนชั้นใหญ่ๆ คือ ชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง และชนชั้นล่าง ในแต่ละชนชั้นยังแบ่งย่อยได้อีก คือ 1.ชนชั้นสูงสุด ได้แก่ พระบรมวงศานุวงศ์ 2.ชนชั้นสูง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี องคมนตรี และ รัฐบุรุษ

ข้อความจากหนังสือดังกล่าว ทำให้สื่อสังคมออนไลน์ตั้งคำถามถึงการแบ่งชนชั้นในสังคมไทย โดยบางส่วนมองว่า การมีเนื้อหาเรื่องชนชั้นเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในสังคม ยอมรับการมีอยู่ของศักดินา ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ

สอดคล้องกับความเห็นของ "ธนัชชนม์ ธนาธิป-ปริพัฒน์" นักวิชาการ ในฐานะอาจารย์ด้านสังคมศาสตร์ ที่มองว่า การผลิตซ้ำเรื่องชนชั้นอาจทำให้นักเรียนที่ขาดการเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลาย ถูกหล่อหลอมและก้มหน้ายอมรับความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

เนื้อหาที่แชร์กันตอนนี้ เป็นเนื้อหาจริงที่ปรากฏในหนังสือ ใช้สอนในระดับ ปวส. แต่ไม่ใช่ของสำนักพิมพ์เอมพันธ์อย่างที่แชร์กัน ซึ่งเบื้องต้นเนื้อหาไม่ควรสื่อความแบบนั้น เพราะการสื่อความในแบบเรียนสำคัญมาก เป็นองค์ความรู้พื้นฐานที่ถ่ายทอดค่านิยมให้แก่ผู้เรียน แม้ผู้เรียนจะตั้งใจเรียนหรือไม่ ก็จะได้รับอิทธิพลอย่างเลี่ยงไม่ได้

นายธนัชชนม์ระบุว่า การแบ่งชนชั้นสามารถแบ่งอย่างไม่เคร่งครัดนัก ได้ 2 รูปแบบ คือ การแบ่งชนชั้นที่เกิดจากวัฒนธรรม และการแบ่งชนชั้นตามทฤษฎีทางสังคมศาสตร์

สำหรับการแบ่งชนชั้นที่เกิดจากวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือของรัฐที่เกิดขึ้นทั่วโลกตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว เช่น แบ่งเป็นกษัตริย์ ขุนนาง ไพร่ ฯลฯ

แต่การแบ่งชนชั้นตามทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ อาจมีได้หลากหลาย เช่น ทฤษฎีของมาร์กซิส จะแบ่งชนชั้นออกเป็นโครงสร้างส่วนบน หรือชนชั้นสูง และโครงสร้างส่วนล่าง ได้แก่ ประชาชนรากหญ้า หรือจะมองเป็นผู้กดขี่กับผู้ถูกกดขี่ก็ได้ จะสังเกตว่า แนวคิดนี้กำลังร่วมสมัยกับการสื่อสารทางการเมืองของวัยรุ่นในประเทศไทยขณะนีัด้วย

ต้องยอมรับว่า การแบ่งชนชั้นเกิดขึ้นมาเพื่อควบคุมสังคมให้อยู่ในระเบียบ และตั้งแต่โบราณมาเมื่อชนชั้นสูงมีอำนาจมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดการกดขี่ เมื่อเข็มนาฬิกาหมุนไปข้างหน้า ปัจจัยที่จะเข้ามาช่วยควบคุมสังคมเริ่มมีความสมเหตุสมผลมากขึ้น การแบ่งชนชั้นของหลายรัฐในประวัติศาสตร์โลกจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงไป

ในฐานะที่เกี่ยวข้องกับการทำแบบเรียน นายธนัชชนม์ เสนอให้มีการปรับปรุงแบบเรียน โดยเน้นการนิยามที่ “หลากหลาย” ไม่จำกัดอยู่เพียงความหมายด้านเดียว

เพราะทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ไม่ได้มีเพียง 1 หรือ 2 ทฤษฎี ซึ่งอาจารย์ผู้เขียนมีหน้าที่เสนอข้อมูลแบบไม่ผูกขาด เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ ตั้งคำถาม และถกเถียง เพราะความรู้ไม่มีอะไรถูกหรือผิดแบบตายตัวหากพบว่าข้อมูลที่มีอยู่ล้าหลังก็แก้ไขหรือเพิ่มเติม

ส่วนครูผู้สอนเอง ก็ต้องสื่อสารกับนักเรียนให้เข้าใจความหลากหลายของโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่รอให้เข้าถึง เพื่อไม่ให้นักเรียนเกิดความสับสน และเป็นการสนับสนุนให้นักเรียนอ่านให้มากขึ้น คิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น เมื่ออ่านข้อมูลใดก็ตามจากอินเทอร์เน็ตจะได้เกิดความเข้าใจที่ครบถ้วน ไม่ปักใจเชื่อ

ทุกวันนี้แบบเรียนส่วนใหญ่ ยังเขียนแบบผูกขาดทางความหมายอยู่ ดังนั้น การจะปรับปรุงแบบเรียน ควรใช้ศิลปะทางการเขียนเพื่อสื่อความหมายที่หลากหลาย เพราะเรื่องการแบ่งชนชั้น มีหลายคำอธิบาย ขึ้นอยู่กับนักวิชาการผู้เขียนจะผลิตซ้ำและนำเสนอทฤษฎีใดมาอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมที่ตนอาศัยอยู่

จึงควรเน้นย้ำด้วยว่า สังคมไทยไม่ควรมีเพียง 1 หรือ 2 คำอธิบาย และควรช่วยกันเปิดพื้นที่การแสดงออกทางความรู้ที่หลากหลายให้ได้ ซึ่งเชื่อว่า เยาวชนรุ่นใหม่ตอบสนองต่อตรงนี้ได้ดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง