THE EXIT : กลลวง ทวงโหด แอปฯ เงินกู้ ตอน 2

เศรษฐกิจ
11 ธ.ค. 63
18:56
17,329
Logo Thai PBS
THE EXIT : กลลวง ทวงโหด แอปฯ เงินกู้ ตอน 2
สำนักงานเศรษฐกิจการการคลัง กระทรวงการคลัง เตือนผู้กู้เงินจากแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่ไม่ได้เป็นนิติบุคคล ถือเป็นแหล่งเงินกู้ผิดกฎหมาย ผู้กู้ที่ได้รับความเดือดร้อนในลักษณะนี้ สามารถแจ้งความเอาผิดได้

กลลวงของ "แอปพลิเคชันเงินกู้" ผิดกฎหมาย นอกจากจะพบว่ามีพฤติกรรมอำพรางดอกเบี้ยแล้ว ยังพบว่า บางแอปฯ อนุมัติเงินเพื่อให้เกิดสัญญากู้เงิน โดยไม่มีการโอนเงินให้กับผู้กู้ แต่เมื่อถึงกำหนดระยะสัญญา 7 วัน กลับมีการมาติดตามทวงหนี้ ทั้งส่งข้อความประจานไปยังรายชื่อผู้ติดต่อในมือถือของผู้กู้ หรือนำภาพไปโพสต์เพื่อให้เกิดความเสียหาย

 

แม่ค้าขายอาหารคนหนึ่งบอกกับทีมงาน THE EXIT ว่า เธอเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการติดตามทวงหนี้ ในลักษณะข่มขู่คุกคามและประจานให้อับอาย จาก "แอปพลิเคชันเงินกู้" สถานการณ์ COVID-19 ทำให้รายได้ลดลง หมุนเงินไม่ทัน เธอจึงลองค้นหาแหล่งเงินกู้ในอินเทอร์เน็ต และพบข้อมูลแนะนำว่า มีแอปพลิเคชันปล่อยกู้ง่าย ได้เงินทันที จึงลองสมัคร

 

หลังจากกรอกข้อมูลส่วนตัว ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ บัตรประจำตัวประชาชน และข้อมูลผู้ติดต่อ กรณีตามตัวผู้กู้ไม่ได้จำนวน 2 รายชื่อ ครบถ้วน ไม่นานได้รับข้อความว่า "อนุมัติเงินกู้" จำนวน 2,000 บาท แต่กลับไม่มีเงินโอนเข้าบัญชี

 

ผ่านไป 7 วัน มีการติดตามทวงหนี้ แม้เธอจะยืนยันและมีหลักฐานการเดินเงินในบัญชีว่าไม่ได้รับโอนเงินในวันเวลาดังกล่าว แต่บุคคลที่อ้างเป็นตัวแทนแอปพลิเคชันเงินกู้ไม่ยอม ยังคงคุกคาม จนเธอต้องไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ

เราส่งสลิปสเตทเมนท์ไปให้เขาดูแล้ว ว่าวันที่เขาอ้างว่าโอนมา เราไม่ได้เงิน เขาก็ไม่เชื่อ มีการมาทวงถามและข่มขู่

เช่นเดียวกับหญิงอีกคน ที่กู้เงินผ่านแอปพลิเคชันแบบเดียวกัน ขั้นตอนการกรอกข้อมูลและยื่นกู้ไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะการขอเข้าถึงข้อมูลรูปภาพและรายชื่อผู้ติดต่อในมือถือทั้งหมด เธอยอมรับว่าได้รับการโอนเงินจากแอปพลิเคชันเงินกู้จริง โดยยื่นกู้เป็นเงินจำนวน 2,500 บาท แต่ได้รับเงินโอนเข้าบัญชี 1,500 บาท อีก 1,000 บาท ถูกหักเป็นค่าดำเนินการ ค่าบำรุงแอปฯ โดยไม่มีใบเสร็จรับเงิน

 

เมื่อถึงกำหนดการชำระหนี้ 7 วัน ซึ่งเธอยังไม่สามารถใช้หนี้ได้ ก็เริ่มมีการติดตามทวงหนี้ ด้วยการส่งข้อความไปหาญาติและคนสนิท หลังจากนั้นพฤติกรรมการทวงหนี้เริ่มเปลี่ยนไป มีการส่งข้อความไปหาทุกคนที่มีรายชื่อเป็นผู้ติดต่อในเบอร์มือถือ ใช้ถ้อยคำหยาบคายข่มขู่คุกคาม

เธอเล่าว่าแม้ระหว่างนั้นจะขอเจรจาผ่อนชำระ แต่ไม่ได้รับการยินยอม ผู้ติดตามทวงแจ้งยอดเต็ม พร้อมค่าปรับและค่าติดตามในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน จากยอดรับจริง 1,500 บาท ต้องจ่ายคืนสูงถึงเกือบ 6,000 บาท

ถามเขาว่าค่าติดตามกับค่าปรับเท่าไหร่ ถ้าไม่จ่ายวันนี้ยอดจะเป็น 5,750 บาท ก็เลยบอกเขาว่าทำไมมันเยอะขนาดนี้ ไม่มีจ่ายหรอก เขาบอกก็คุณไม่ชำระ มันเกินวันชำระมาแล้ว

 

อีกวิธีที่เธอโดนกลุ่มผู้ติดตามทวงหนี้ คือการนำรูปถ่ายที่บันทึกไว้ในมือถือไปใช้ใส่ข้อมูลในลักษณะที่ทำให้เสื่อมเสียอับอาย และโพสต์ลงในกลุ่มเพื่อให้เกิดการเข้าใจผิด

เขาดึงไลน์เราเข้าไปในกลุ่มของพวกเขา แล้วก็เอารูปไปโพสต์ว่า ใครเจอตัว ช่วยหน่อย น้องเขาหาเงินใช้หนี้อยู่

ข้อมูลจากกลุ่มช่วยเหลือเหยื่อแอปพลิเคชันเงินกู้ พบว่าแหล่งเงินที่เข้ามาดำเนินการ ส่วนใหญ่เป็นแหล่งเงินข้ามชาติ เช่น จีน มาเลเซีย มีคนไทยเป็นนอมินีในการจดทะเบียนแอปพลิเคชัน เช่นเครือข่ายนี้จะมีทีมติดตามทวงหนี้จะใช้รหัสเพื่อแสดงตัวด้วยคำนำหน้าว่า "บัง" มีพฤติกรรมทวงหนี้ในลักษณะข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว คล้ายการทวงหนี้ของแก๊งหมวกกันน็อค แต่ยังไม่เคยปรากฎว่ามีการลงพื้นที่ทำร้ายลูกหนี้จริง

ทีมข่าวได้ข้อมูลว่า "แอปพลิเคชันเงินกู้" ผิดกฎหมาย เมื่อถูกจับ มักจะเปลี่ยนแพลตฟอร์มและเปิดแอปพลิเคชันใหม่ขึ้นมาดำเนินการในลักษณะเดิม ก่อนหน้านี้เคยมีการจับกุมแอปพลิเคชันเงินกู้ ผิดกฎหมายรายใหญ่ไปเมื่อเดือนมิถุนายน และกลับมาพบผู้เดือดร้อนร้องเรียนเพิ่มสูงขึ้น ในอีก 4 เดือนถัดมา

 

น.ส.สภัทร์พร ธรรมาภรณ์พิลาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่าปัจจุบันแหล่งเงินกู้ถูกกฎหมายผ่านระบบแอปพลิเคชัน สามารถตรวจสอบได้กับกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของกลุ่มทวงหนี้
ข้อสังเกตสำคัญคือ ผู้ดำเนินการภายใต้แอปพลิเคชัน จะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเท่านั้น หากใช้ชื่อบุคคลในการโอนถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย ต้องไม่มีการหักเงินจากยอดกู้ หากมีการเรียกเก็บค่าบริการจะต้องมีใบเสร็จรับเงิน และที่สำคัญอัตราดอกเบี้ยเมื่อคำนวณแล้ว ต้องไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา โกงเราแน่ คนที่ปล่อยกู้ได้ต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้น ถ้าอยากจะรู้ว่านิติบุคคลไหนถูกกฎหมายโทรสอบถามได้ที่ 1213 และ โทร 1359 หรือดูอัตราดอกเบี้ย ถ้าเกินร้อยละ 36 สันนิษฐานได้เลยว่า ผิดกฎหมาย 

น.ส.สภัทร์พร ยังระบุว่าผู้ได้รับความเดือดร้อนจากแอปพลิเคชันเงินกู้ผิดกฎหมาย สามารถแจ้งความเอาผิดกับผู้กระทำความผิดได้ พร้อมแนะนำให้ลูกหนี้พิจารณาเลือกแหล่งเงินกู้ ควบคู่ไปกับการมีวินัยและบริหารเงิน เพื่อลดโอกาสของการตกเป็นเหยื่อ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

THE EXIT : กลลวง ทวงโหด แอปฯ เงินกู้ ตอน 1

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง