พิษฝุ่น PM 2.5 "กรีนพีซ" เผยข้อมูล กทม.อากาศแย่อันดับ 7 โลก

สังคม
14 ธ.ค. 63
10:06
369
Logo Thai PBS
พิษฝุ่น PM 2.5 "กรีนพีซ" เผยข้อมูล กทม.อากาศแย่อันดับ 7 โลก
กรีนพีซ ประเทศไทย เปิดข้อมูลคุณภาพอากาศ กทม.แย่ที่สุดในโลกเป็นอันดับ 7 โดยพบค่า AQI สูงถึง 165 พร้อมระบุว่า แอปฯ กรมควบคุมมลพิษยังรายงานค่าฝุ่นอยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจากไม่ได้รายงานคุณภาพอากาศเรียลไทม์แต่นำค่าคุณภาพอากาศ 24 ชั่วโมงมาคำนวณเฉลี่ยแทน

วันนี้ (14 ธ.ค.2563) กรีนพีซ ประเทศไทย ทวีตข้อความระบุว่า เวลา 06.35น. คุณภาพอากาศใน กทม.อยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดย กทม.ขึ้นมาอยู่ในเมืองที่มีคุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลกเป็นอันดับที่ 7 ก่อนออกจากบ้านอย่าลืมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 ด้วย

ในขณะที่แอปพลิเคชัน Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ ณ เวลา 07.08 น. คุณภาพบริเวณเขตพญาไทคุณภาพยังอยู่ระดับปานกลาง ซึ่งการรายงานนี้ไม่ได้รายงานค่าคุณภาพอากาศ ณ เดี๋ยวนั้น แต่เป็นการนำค่าคุณภาพอากาศ 24 ชั่วโมงมาคำนวณเฉลี่ย

 

ทำไมแอปพลิเคชันแสดงผลคุณภาพอากาศต่างกัน?

กรีนพีซ ประเทศไทย เคยให้ข้อมูลไว้ว่า แอปพลิเคชันที่นิยมใช้อ้างอิงทั่วโลกในการตรวจสอบสภาพอากาศ คือ แอปพลิเคชัน Air Visual และเว็บไซต์ www.aqicn.org โดยจะใช้เกณฑ์ AQI ของสหรัฐอเมริกาเป็นหลักและใช้ดัชนีคุณภาพอากาศขององค์กรทางด้านสิ่งแวดล้อม (EPA) ส่วนแอปพลิเคชัน Air4Thai จะยึดการคำนวณเกณฑ์ของประเทศไทยในการหาดัชนีคุณภาพอากาศ ดังนั้น ระดับสีและตัวเลขที่แสดงดัชนีคุณภาพอากาศของแต่ละแอปพลิเคชันจึงแตกต่างกัน

ความแตกต่างอีกข้อ คือ การคำนวณหาค่าดัชนีคุณภาพอากาศที่ไทยและ EPA มีสูตรคำนวณแตกต่างกัน มีผลทำให้ตัวเลขดัชนีคุณภาพอากาศที่แสดงไม่เท่ากัน ส่งผลให้แม้ว่าวัดค่าความเข้มข้นของฝุ่นละออง PM2.5 ได้เท่ากัน แต่เมื่อนำมาคำนวณกับมาตรฐานที่ต่างกันก็ทำให้การแสดงตัวเลขดัชนีคุณภาพอากาศเปลี่ยนไป

นอกจากนี้ การรวบรวมข้อมูลจากสถานีวัดคุณภาพอากาศก็ทำให้การรายงานตัวเลขแตกต่างกันได้ สำหรับกรมควบคุมมลพิษ (แอปพลิเคชัน Air4Thai) จะรวบรวมข้อมูลจากสถานีวัดคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ ส่วนแอปพลิเคชันอื่นๆ ตามที่ได้ยกตัวอย่างไปจะรวบรวมข้อมูลจากทั้งสถานีวัดคุณภาพอากาศจากกรมควบคุมมลพิษ รวมถึงอุปกรณ์วัดคุณภาพอากาศต่างๆ เช่น เครื่องมือวัดคุณภาพอากาศ Dust Boy พัฒนาโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ติดตั้งตามสถานที่ต่างๆ หรือแม้กระทั่งเครื่องมือวัดคุณภาพอากาศของแอปพลิเคชัน Air Visual

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ "ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย" ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ใช้แอปฯ ที่ไม่ได้มีดัชนีคุณภาพอากาศเดียวกับประเทศไทย อย่าง air visual ซึ่งค่าที่วัดได้ไม่ใช่เรื่องของเฟกนิวส์ แต่เป็นการใช้ดัชนีคุณภาพอากาศที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นความท้าทายที่หน่วยงานรัฐต้องแก้ไขและสร้างความเข้าใจให้ได้

ดังนั้น กรีนพีซจึงพยายามผลักดันให้ดัชนีสะท้อนความรุนแรงของ PM 2.5 ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งเมื่อมีการแสดงผลว่ามีค่าฝุ่น PM 2.5 ก็จะช่วยทำให้หน่วยงานต่างๆ ตื่นตัวและเข้ามาแก้ไขได้มากขึ้น

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เริ่มกระทบสุขภาพ! 58 พื้นที่ "กทม.-ปริมณฑล" ฝุ่นเกินมาตรฐาน

เกินมาตรฐาน! กทม.-ปริมณฑล 41 พื้นที่เผชิญฝุ่นจิ๋ว 2 วันติด

ดินแดง! อากาศแย่มีผลต่อสุขภาพ AQI เกิน 200 งดออกจากบ้าน

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง