หมู่บ้านต้นแบบ ปลอดการเผา จ.ลำพูน

ภูมิภาค
14 ธ.ค. 63
10:58
904
Logo Thai PBS
หมู่บ้านต้นแบบ ปลอดการเผา จ.ลำพูน
บ้านป่าบุก ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เป็นหมู่บ้านตัวอย่างปลอดการเผาทุกประเภท เพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและฝุ่น PM 2.5 โดยนำเศษวัชพืชไปใช้ประโยชน์ จนได้รับรางวัลพระราชทาน การประกวดชุมชนปลอดขยะ จากในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2557

(14 ธ.ค.63) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านป่าบุก หมู่ 10 ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน นำเศษวัชพืช และใบไม้ใส่เครื่องบดตัดให้เป็นชิ้นเล็ก ก่อนนำไปหมักในท่อปูนซีเม็นต์ ร่วมกับเศษอาหารในบ้าน ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนครึ่ง กลายเป็นปุ๋ยหมัก สามารถนำมาบำรุงพืชผลทางการเกษตรได้ และนี่เป็นหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาเรื่องการเผาในที่โล่งลดเรื่องฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

 

นายสนั่น สมจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านป่าบุก ม.10 ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ระบุว่า ในอดีตชาวบ้านจัดการเศษวัชพืชรวมถึงขยะด้วยการเผา ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่หลังร่วมกันทำอย่างจริงจังนอกจากฝุ่นลดลงดีต่อสุขภาพยังช่วยลดปริมาณขยะในพื้นที่ด้วย 

นายสนั่น สมจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านป่าบุก ม.10 ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน

 

นายนพรัตน์ อุพงศ์ กรรมการหมู่บ้านป่าบุก

 

นางสาวสายสุภาพ มณีกรรณ์ ชาวบ้านป่าบุก

นายนพรัตน์ อุพงศ์ กรรมการหมู่บ้านป่าบุก และนางสาวสายสุภาพ มณีกรรณ์ ชาวบ้านป่าบุก ต.แม่แรง อ.ป่าซางจ.ลำพูน ระบุว่า หลังชาวบ้านป่าบุกจำนวน 90 หลังคาเรือน ทำต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงขณะนี้เห็นผลชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพของชาวบ้านที่ดีขึ้น และยังนำปุ๋ยหมักไปปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเองในครอบครัวลดค่าใช้จ่าย ของครอบครัวด้วย ในภาวะที่ขณะนี้เชื้อโควิด-19 กำลังกลับมา แต่ชาวบ้านเชื่อมั่นว่าจะมีอาหารไว้กินจากพื้นที่รอบบ้าน

 

 

นอกจากการนำเศษวัชพืช และใบไม้ โดยเฉพาะใบลำไย ที่ปลูกมากที่บ้านป่าบุก มาทำปุ๋ยหมัก ชาวบ้านยังนำขยะ และสิ่งเหลือใช้อื่นๆ มาทำให้เกิดประโยชน์เพิ่มมูลค่า เช่น ใช้โฟมไปเป็นส่วนผสมของก้อนอิฐ การนำก้านตาล มาทำเก้าอี้ ขายเพียงตัวละ 500-600 บาท รวมถึงในหมู่บ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า อดีตจะเผาเศษผ้าทิ้งซึ่งสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อม ก็นำเศษผ้ามาพรหมเช็ดเท้า รวมถึงสิ่งของที่ระลึก เช่น กระเป๋า ส่งขายให้กับนักท่องเที่ยว ทำให้มีรายได้มั่นคง และสิ่งที่ชาวบ้านภาคภูมิใจ คือ ได้รับรางวัลพระราชทานชุมชนปลอดขยะ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2557 ทุกวันนี้เมื่อเข้าไปในหมู่บ้านจึงเห็นจุดทำปุ๋ยหมักทุกครัวเรือน และเห็นแปลงปลูกผักขนาดเล็กเกือบทุกบ้าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง