ฝุ่นพุ่ง! ศกพ.ประสานต้นสังกัด ร.ร.ใน กทม.งดกิจกรรมกลางแจ้ง

สังคม
15 ธ.ค. 63
10:55
569
Logo Thai PBS
ฝุ่นพุ่ง! ศกพ.ประสานต้นสังกัด ร.ร.ใน กทม.งดกิจกรรมกลางแจ้ง
ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ประสานกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานกำกับดูแลสถานศึกษา งดกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิด หลังพบค่าฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลเกินมาตรฐานกว่า 60 พื้นที่

วันนี้ (15 ธ.ค.2563) น.ส.ศิวพร รังสิยานนท์ รองโฆษกศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) แถลงการณ์ฝุ่น PM 2.5 โดยระบุว่า พื้นที่เฝ้าระวังพิเศษยังคงเป็นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เนื่องจากปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยา ได้แก่ ความกดอากาศสูง ความเร็วลมต่ำ และการยกตัวของอากาศที่ไม่ดี ทำให้อากาศนิ่ง มีผลให้การสะสมตัวของ PM 2.5 เพิ่มมากขึ้น

วันนี้พบค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 37- 118 มคก./ลบ.ม. โดยส่วนใหญ่พบค่าฝุ่นเกินมาตรฐานในพื้นที่ริมถนน ได้แก่ ริมถนนดินแดง เขตดินแดง, ริมถนนเจริญนคร เขตคลองสาน, ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 8 เขตหนองแขม, ริมถนนศรีนครินทร์ เขตประเวศ,  ริมถนนพระรามที่ 4 หน้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน, ริมถนนพระราม 5 เขตดุสิต เป็นต้น รวมทั้งพื้นที่ริมถนนปริมณฑล สมุทรสาคม นนทบุรี ขอความร่วมมือ กทม.และจังหวักดปริมณฑล กระทรวงเกษตร ควบคุมไม่ให้มีการเผาในที่โล่งตั้งแต่เมื่อวาน ถึง 17 ธ.ค. ขอความร่วมมือประชาชน ลดใช้ยานพาหนะ

ศกพ.ขอให้ประชาชนรักษาสุขภาพ งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพต้องดูแลเป็นพิเศษ หากมีอาการไอ หายใจลําบาก แน่นหน้าอก คลื่นไส้ อ่อนเพลีย ขอให้ไปปรึกษาแพทย์ หากอยู่ในพื้นที่สีแดง ควรสวมหน้ากาก และเลี่ยงออกที่โล่ง

ทั้งนี้ ศกพ.ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการขนส่งทางบก กรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล ยกระดับเข้มงวดตรวจควันดำ และขอความร่วมมือกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานกำกับดูแลสถานศึกษา งดกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิด พร้อมขอประชาชนสวมหน้ากากเพื่อป้องกัน COVID-19 และฝุ่น PM 2.5

 

สธ.เฝ้าระวัง 4 กลุ่มเสี่ยง หลังฝุ่น PM 2.5 พุ่ง 6 วันติด

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้สั่งการเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ขอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง เตรียมการดูแลผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยให้เฝ้าระวังแจ้งเตือนสถานการณ์ สื่อสารข้อมูลผลกระทบและการปฏิบัติตนแก่ประชาชน พร้อมสำรวจและจัดทำทะเบียนกลุ่มเสี่ยงจากฝุ่น PM 2.5 โดยให้ทีมหมอประจำตัว (3 หมอ) ลงพื้นที่ให้ความรู้คำแนะนำการป้องกันตัวและดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะ 4 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงและเด็กเล็ก

นอกจากนี้ ให้โรงพยาบาลเปิดคลินิกมลพิษเพื่อให้คำปรึกษาและรักษา สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นในสถานบริการสาธารณสุข และสนับสนุนให้โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ บ้านเรือนประชาชน จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น และเตรียมความพร้อมเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขในทุกระดับ ทั้งจังหวัดเขตสุขภาพ กรม และกระทรวง เพื่อติดตามสถานการณ์และยกระดับการปฏิบัติการ หากสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น พร้อมเฝ้าระวังการเจ็บป่วยโดยรายงานผู้ป่วยที่มารับการรักษาอย่างต่อเนื่องใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบผิวหนัง และระบบตา หากมีเหตุการณ์ผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เข้ารักษาในห้องฉุกเฉินมากกว่าปกติให้รายงานทันที 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง