คนกรุงเผชิญฝุ่น PM 2.5 ชง "ทำงานที่บ้าน" ช่วงวิกฤต

สิ่งแวดล้อม
15 ธ.ค. 63
13:06
1,395
Logo Thai PBS
คนกรุงเผชิญฝุ่น PM 2.5 ชง "ทำงานที่บ้าน" ช่วงวิกฤต
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ชวนคนใช้รถเครื่องยนต์ดีเซล เติมน้ำมันที่มีกำมะถันต่ำ ลดควันดำ-ฝุ่น PM 2.5 ขณะที่นักวิชาการ เสนอหน่วยงานรัฐและเอกชนให้พนักงานทำงานที่บ้านในช่วงวิกฤต

วันนี้ (15 ธ.ค.2563) ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ, นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา, นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย, ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร และ ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์และแนวทางแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญและเตรียมการเรื่องดังกล่าว โดยเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว กำหนดมาตรการ แผนปฏิบัติการวาระแห่งชาติ ว่าด้วยการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 และตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง รวมทั้ง ครม.เห็นชอบแนวทางเฉพาะกิจ 12 ประการ

ยกระดับแก้ปัญหาฝุ่น

จากสถานการณ์ปัจจัยสภาพอากาศที่ทำให้เกิดการสะสมของฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน 50 มคก.ต่อ ลบ.ม. ต่อเนื่องมาแล้ว 3-4 วัน ในช่วงเวลานี้ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ได้บูรณาการการทำงานกับทุกหน่วยงาน ซึ่งเมื่อเช้านี้หลังเกิดค่ามลพิษฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน 14 พื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเพิ่มเติมให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เร่งประสานงานกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ปัญหาและบรรเทาผลกระทบ

2 เดือนที่ผ่านมาได้วางแผนตั้งจุดตรวจ แต่ต้องคำนึงถึงการประกอบอาชีพของประชาชน โดยเฉพาะช่วง COVID-19 เมื่อค่า PM 2.5 สูงขึ้น จะก่อให้เกิดผลกระทบสุขภาพประชาชนอย่างร้ายแรง ก็ต้องยกระดับการแก้ปัญหาให้เข้มมากขึ้น 

 

ในวันนี้ ทส.ปรับแผนการปฏิบัติ ทั้งตรวจควันดำ ตรวจแหล่งกำเนิดภาคการจราจร ให้ความสำคัญของรถยนต์ที่ไม่ได้ตรวจสภาพและก่อให้เกิดควันดำ โดยจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น รวมทั้งการเผาในที่โล่งที่เพิ่มฝุ่น PM 2.5 ร้อยละ 30 ได้แก่ การเผาขยะ เผาในพื้นที่ไร่นา หรือไร่อ้อย ขอให้งดการเผาที่โล่งในพื้นที่จังหวัดรอบกรุงเทพฯ ถึงวันที่ 17 ธ.ค.นี้ จากนั้นจะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

ชวนเติมน้ำมันกำมะถันต่ำ ลด PM 2.5

ทั้งนี้ มีแคมเปญสำคัญ ให้ประชาชนที่ใช้รถยนต์เครื่องยนตร์ดีเซล เติมน้ำมันที่มีกำมะถันต่ำ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ผลิตน้ำมัน 2 รายใหญ่ และจำหน่ายในราคาปกติในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ เพื่อช่วยลดควันดำและปริมาณ PM 2.5 มากถึงร้อยละ 24

"ค่ายรถ" ลดค่าตรวจสภาพรถเก่าเกิน 15 ปี

นอกจากนี้ ค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ได้ลดราคาร้อยละ 30-50 ทั้งค่าอะไหล่และค่าแรงของช่างในการตรวจสภาพรถยนต์เก่าอายุ 15 ปีขึ้นไป เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่รายได้น้อย หรือใช้รถเก่าอยู่

กรณีที่ค่าฝุ่นเป็นสีแดงในหลายจุดนั้น กรอบวาระแห่งชาติฯ ระบุว่า ค่าฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่ 50-75 มคก./ลบ.ม. ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องพิจารณาการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและภารกิจที่ได้รับมอบหมาย แต่หากใกล้ 100 มคก./ลบ.ม. ทส.จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจาณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อรายงานต่อนายกรัฐมนตรี ในการยกระดับมาตรการให้เข้มข้นมากขึ้น เบื้องต้นขอความร่วมมือประชาชนเพื่อลดฝุ่น PM 2.5

เตือน 1-2 วัน คนกรุงยังเผชิญฝุ่นเยอะ

ด้านอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ในช่วงสภาพอากาศหนาวเพดานก็จะต่ำ ทำให้ฝุ่นมาก ประกอบกับความกดอากาศสูงอ่อนกำลังลง ลมก็จะอ่อนต่อและไม่มีลมพัด ส่งผลให้ฝุ่นยังคงอยู่ในพื้นที่ แต่อีก 1-2 วัน ความกดอากาศสูงจากตอนใต้ของประเทศจีนจะเคลื่อนตัวลงมา ช่วยให้ลมพัดแรงขึ้นและฝุ่นกระจายตัว โดยจะนำข้อมูลพยากรณ์ต่าง ๆ ประกอบข้อมูลสถานการณ์ฝุ่น เพื่อแจ้งเตือนประชาชนล่วงหน้า

เตือนพี่น้องประชาชน 1-2 วันนี้ ที่ความกดอากาศสูงยังไม่เคลื่อนตัวลงมา อาจมีฝุ่นควันปกคลุมอยู่ค่อนข้างเยอะ

3 ทางแก้ฝุ่นระยะยาว

ดร.สุพัฒน์ กล่าวว่า มาตรการที่ภาครัฐดำเนินการอยู่ทุกวันนี้ เรียกว่าเดินมาถูกทาง เพราะมีการเก็บข้อมูลมาโดยตลอด ซึ่งต้องแก้ปัญหา 3 จุด คือ

  • แหล่งระบายมลพิษทางอากาศ หรือฝุ่น PM 2.5 โดยการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูล พบว่าในกรุงเทพฯ มาจากรถเครื่องยนต์ดีเซล ควันดำ การเผาเศษวัสดุทางการเกษตรที่อยู่รอบกรุงเทพฯ เช่น ปทุมธานี นนทบุรี และลมพัดพาเข้ามา โดยพบว่าพื้นที่ฝุ่นมาก คือ ตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเทพฯ ส่วนรถดีเซลในกรุงเทพฯ ปัจจุบันเป็นมาตรฐานยูโร 4 ถือว่ามีมาตรฐานค่อนข้างสูง แต่น้ำมันยูโร 4 มีกำมะถัน 50 ส่วนในล้านส่วน ถือว่าค่อนข้างสูง หากใช้น้ำมันดีเซลที่มีกำมะถันต่ำมาก ที่ผลการทดสอบทางวิชาการพบว่าช่วยลดการระบายฝุ่น ควันดำ ได้มากกว่าร้อยละ 20
  • กำจัดตัวที่แขวนลอยในอากาศให้มาอยู่บนพื้นดิน
  • ปกป้องคนที่เป็นผู้รับฝุ่น ด้วยการสวมหน้ากาก
ปัญหาช่วงนี้ บอกว่าจะแก้ให้หมดเลยนี่ยาก แต่จะบรรเทาได้ไหม น่าจะทำได้

ขอความร่วมมือ "ทำงานที่บ้าน" ช่วงวิกฤต

ดร.สุพัฒน์ กล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 จะตรวจวัดได้มากในช่วงเช้าและช่วงบ่ายที่มีการจราจรหนาแน่น และค่าฝุ่นจะขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงหลัง 24.00 น. สะสมไปถึงเช้า ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้รถยนต์ส่วนตัวในช่วงเวลาดังกล่าว และใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทน

รวมทั้งหน่วยงานราชการ หรือเอกชน หากมีมาตรการให้ทำงานที่บ้านได้ในช่วงวิกฤต ก็จะช่วยบรรเทาปัญหา PM 2.5 ยืนยันหากดำเนินนโยบายและมาตรการได้ดี จะมีโอกาสที่ PM 2.5 หมดจากไทย แต่ไม่ใช่ 1-2 ปี

ในระยะยาว หากใช้น้ำมันที่มีมาตรฐานกำมะถันต่ำมาก ใช้เครื่องกรองควัน หากเดินทางตามแผน ปัญหาจะบรรเทาลง และฝุ่นกลับมาอยู่ในค่ามาตรฐาน

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

69 เขต กทม.-ปริมณฑลฝุ่น PM2.5 พุ่งสูง หนักสุด "ดินแดง" 

แก้ฝุ่น! กทม.สั่งงดก่อสร้างรถไฟฟ้า-อาคารสูง พิจารณาปิดเรียน 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง