ศิริราช แนะรับมือฝุ่น PM 2.5 ชงปรับเกณฑ์เตือนกลุ่มเปราะบาง

สิ่งแวดล้อม
15 ธ.ค. 63
17:22
637
Logo Thai PBS
ศิริราช แนะรับมือฝุ่น PM 2.5 ชงปรับเกณฑ์เตือนกลุ่มเปราะบาง
ศิริราช เตือนรับมือฝุ่น PM 2.5 หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นต้องพิจารณาหยุดเรียน พร้อมเสนอปรับค่ามาตรฐานการแจ้งเตือนให้เหมาะสมกับกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ เด็ก คนมีโรคประจำตัว

วันนี้ (15 ธ.ค.2563) เวลา 14.00 น. ศ.ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล แถลงสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน หลังพบค่าฝุ่น PM 2.5 เพิ่มสูงขึ้น โดยอยู่ในระดับสีแดงหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล

"ฝุ่นวิกฤต" ต้องประกาศหยุดเรียน 

ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า หากสถานการณ์ฝุ่นรุนแรงมากขึ้น อาจถึงเวลาที่ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจต้องพิจารณาให้หยุดเรียน เพราะเด็กมีความเสี่ยงสูง

ขณะที่ นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงผลกระทบฝุ่น PM 2.5 ต่อระบบการหายใจ ว่า คนปกติที่ออกไปเดินในพื้นที่ที่ค่าฝุ่นสูง จะเกิดการระคายเคืองจมูก ตา และผิวหนัง 

 

เมื่อฝุ่นเข้าสู่ร่างกายจะก่อให้เกิดการอักเสบรุนแรง และการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาของเนื้อเยื่อตั้งแต่จมูกลงไปจนถึงปอด ส่งผลให้ในระยะสั้นให้เกิดการระคายเคืองจมูก มีน้ำมูก เจ็บคอ และไอ ตามมาด้วยการเกิดปอดอักเสบติดเชื้อง่ายขึ้น รวมทั้ง COVID-19 

ฝุ่นทำสมรรถภาพปอดถดถอย

ส่วนในระยาวจะทำให้สมรรถภาพปอดถดถอยจนเกิดโรคถุงลมโป่งพองโดยที่ไม่สูบบุหรี่ และมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น ที่น่ากังวลคือ ฝุ่นที่ขนาดเล็กกว่าเส้นผม 20-30 เท่า หรือเล็กกว่า 0.3 ไมโครเมตรลงไป สามารถเล็ดลอดเข้าไปในกระแสเลือด ผ่านถุงลมปอด เส้นเลือดฝอยที่ปอด เมื่อฝุ่นเข้าไปในกระแสเลือดแล้วจะไปอยู่ตามอวัยวะที่มีเลือดเลี้ยงมาก ๆ โดยเฉพาะหัวใจ

ฝุ่น PM 2.5 ทำตัวเหมือนควันบุหรี่ มีฤทธิ์ระคายเคือง ทำลายเนื้อเยื่อบุในระบบทางเดินหายใจ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันลดลง เกิดปอดอักเสบและวัณโรคง่ายขึ้น

มีการศึกษาที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่า เมื่อสูดฝุ่น PM 2.5 เข้าไปสะสมในระยะเวลานาน ส่งผลให้สมรรถภาพปอดถดถอย โดยห่วงเด็กและเยาวชน ยกตัวอย่างเด็ก ปอดจะมีถุงลมเต็มที่ 300 ล้านใบเมื่ออายุ 8 ขวบ จากนั้นจนถึงอายุ 25 ปี เป็นช่วงที่ถุงลมขยายตัวขึ้น เพิ่มพื้นที่หายใจ

ถ้าเยาวชนของชาติอยู่ภายใต้ฝุ่นปริมาณ PM 2.5 ต่อเนื่องยาวนาน ก็จะทำให้สมรรถภาพปอดถดถอย โตเป็นเยาวชนที่ปอดไม่แข็งแรง ปอดขยายตัวไม่เต็มที่เท่ากับคนที่อยู่ในพื้นที่ฝุ่นน้อยกว่า

หัวใจขาดเลือด-เต้นผิดจังหวะเพิ่ม

นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวว่า ในช่วงที่มีปริมาณฝุ่นสูง หลังจากนั้น 1-2 วัน จะพบว่ามีผู้เป็นโรคหัวใจเพิ่มขึ้น ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ส่วนผู้ที่เป็นโรคดังกล่าวอยู่แล้วจะเกิดภาวะหัวใจวายได้มากขึ้น

ขณะที่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะทำให้สมองขาดเลือดได้มากขึ้น และผู้ป่วยโรคไตจะเกิดภาวะไตเสื่อมเรื้อรังได้มากขึ้น นอกจากนี้ฝุ่นยังกระทบทารกในครรภ์ผิดปกติ น้ำหนักน้อย

 

ทั้งนี้ ข้อมูลย้อนหลัง 15 ปี ใน 499 เมืองใหญ่ทั่วโลก พบว่า แต่ละปีที่ฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้น มีผลกระทบอัตราการเสียชีวิตของประชากรในทุกสาเหตุ โดยมีประมาณการว่า ค่าฝุ่นเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในทุก ๆ การเพิ่มขึ้น 10 มคก./ลบ.ม. จะทำให้ประชากรเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 0.68%

ชง "ปรับเกณฑ์ฝุ่น"

ปัจจุบันไทยใช้เกณฑ์มาตรฐานฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 50 มคก./ลบ.ม. แต่เกณฑ์ดังกล่าวอาจไม่ปลอดภัยกับคนกลุ่มเปราะบาง เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้มีโรคเรื้อรัง เช่น ปอด หัวใจ สมอง ไต

 

นพ.นิธิพัฒน์ เสนอให้ไทยปรับการเตือนค่าฝุ่นสีแดง มาอยู่ที่ 75 มคก./ลบ.ม. โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 90 มคก./ลบ.ม. เมื่อพื้นที่ใดมีปริมาณฝุ่นสูงติดต่อกันเกิน 2 วัน อาจพิจารณาหยุดเรียน ทำงานที่บ้าน เหลื่อมเวลาเข้างาน ส่วนในต่างประเทศเมื่อพ้นเกณฑ์สีแดงแล้ว ยังมีสีม่วงและสีเลือดหมู กำหนดเป็นค่าตัวเลขซึ่งอยู่ในภาวะกฤตที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน

อาจถึงเวลาที่ประเทศไทยจะทบทวนการเตือนระดับสีส้ม จากเดิม 50 มคก./ลบ.ม. มาอยู่ที่ 37.5 มคก./ลบ.ม.

นพ.นิธิพัฒน์ แนะนำให้ประชาชนดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อขับฝุ่นออกทางปัสสาวะ, กินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ผัก ผลไม้ ลดการอักเสบที่เกิดจากฝุ่น และใช้ระบบกรองอากาศ หรือแผ่นฟอกอากาศ รวมทั้งสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และงดกิจกรรมกลางแจ้ง

 

สำหรับหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ ป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ร้อยละ 40-60 แต่หากมีการเคลื่อนไหว หรือพูด ประสิทธิภาพจะลดลง ส่วนหน้ากากผ้าที่เป็นใยสังเคราะห์ หรือยืดได้เล็กน้อย ป้องกันฝุ่นได้ใกล้เคียงหน้ากากอนามัย ส่วนหน้ากาก N95 ป้องกันฝุ่นได้ร้อยละ 95 แนะนำในกลุ่มคนที่ทำงานในที่สาธารณะ เช่น พนักงานทำความสะอาดถนน ตำรวจจราจร แต่การหายใจลำบากมากขึ้น อาจต้องเพิ่มช่วงเวลาพัก

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดหาหน้ากากทุกชนิดให้ประชาชนมีใช้อย่างเพียงพอ ผลิตและจัดหาอุปกรณ์ป้องกันในที่พักอาศัย โดยเฉพาะเครื่องฟอกอากาศและแผ่นกรองอากาศที่มีประสิทธิภาพและราคาย่อมเยา รวมถึงจัดหาสถานที่หลบภัยสาธารณะในช่วงอากาศวิกฤตสำหรับประชาชนที่ขาดความพร้อมและมีความจำเป็นต้องทำงานกลางแจ้ง เช่น พนักงานทำความสะอาดถนน หรือ ผู้ขับขี่ยานพาหนะสาธารณะ

เลี่ยงวิ่งกลางแจ้งช่วงฝุ่นสูง

สำหรับผู้ที่สุขภาพร่างกายแข็งแรง อาจปรับเปลี่ยนเวลาวิ่ง หลีกเลี่ยงช่วงที่ปริมาณฝุ่นสูง หรือออกกำลังกายในร่มชั่วคราว พร้อมแนะนำผู้จัดงานวิ่งให้เลือกช่วงเวลาจัดงานอย่างเหมาะสม โดยเลื่อน หรืองดกิจกรรมช่วงที่มีฝุ่นสูง เพราะกลุ่มเสี่ยงผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อาจเกิดภาวะหัวใจทำงานไม่ไหว หรือหัวใจขาดเลือด เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้

 

  

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

แก้ฝุ่น! กทม.สั่งงดก่อสร้างรถไฟฟ้า-อาคารสูง พิจารณาปิดเรียน

คนกรุงเผชิญฝุ่น PM 2.5 ชง "ทำงานที่บ้าน" ช่วงวิกฤต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง