ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ตลาดที่อยู่อาศัยปี 64 ผ่านพ้นจุดต่ำสุด

เศรษฐกิจ
16 ธ.ค. 63
09:33
284
Logo Thai PBS
ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ตลาดที่อยู่อาศัยปี 64 ผ่านพ้นจุดต่ำสุด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2564 น่าจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่ยังต้องเผชิญความท้าทายจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ กำลังซื้อ และสถานการณ์ COVID-19 ทั้งในและต่างประเทศ

วันนี้ (16 ธ.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ออกบทวิเคราะห์เรื่อง "ตลาดที่อยู่อาศัยปี 64 ผ่านพ้นจุดต่ำสุด แต่ยังมีความท้าทาย" โดยระบุว่า ​ในช่วงท้ายของปี 2563 ตลาดที่อยู่อาศัยเริ่มมีข่าวดี หลังที่จากการพัฒนาวัคซีนป้องกัน COVID-19 มีความคืบหน้ามากขึ้น และตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาดีกว่าคาด ซึ่งส่งผลด้านบวกต่อตลาดที่อยู่อาศัย

อย่างไรก็ดี การระบาดของ COVID-19 ทำให้จำนวนหน่วยเปิดตัวและยอดโอนที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลตลอดทั้งปี 2563 หดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ

ปี 64 ยังต้องเผชิญความท้าทาย

สำหรับปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าตลาดที่อยู่อาศัยจะปรับตัวในทิศทางที่ค่อยเป็นค่อยไป โดยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว แต่แนวโน้มข้างหน้ายังคงเผชิญกับความท้าทายต่างๆ อาทิ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กำลังซื้อ และสถานการณ์ COVID-19 ทั้งในและต่างประเทศ

 

 

นอกจากนี้ แรงกดดันจากจำนวนที่อยู่อาศัยสะสมรอขายที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภททาวน์เฮ้าส์ที่มีจำนวนสะสมเร่งตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการยังระมัดระวังในการเปิดโครงการเพิ่มเติม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปี 2564 การเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล น่าจะอยู่ที่ราว 72,000 - 75,000 หน่วย หดตัว 1.4% ถึงขยายตัวเล็กน้อย 2.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี

ผู้ประกอบการระมัดระวังลงทุน

ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคชาวไทยและต่างชาติยังคงฟื้นตัวจำกัด ทำให้การจองซื้อที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการจองซื้อที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปี 2564 จะมีจำนวนประมาณ 71,000 - 76,000 หน่วย หดตัว 5.3% ถึงขยายตัว 1.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี จำนวนยอดโอนที่อยู่อาศัยจะอยู่ที่ประมาณ 185,000 - 189,000 หน่วย หดตัว 1.1% ถึงขยายตัว 1.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี

โดยต้องติดตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่อาจเข้ามาช่วยสร้างบรรยากาศเชิงบวกต่อธุรกิจที่อยู่อาศัยในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ดี จากปัจจัยแวดล้อมของตลาดที่ยังไม่เอื้อ ทำให้ผู้ประกอบการยังต้องระมัดระวังการลงทุน และทำการตลาดอย่างหนักต่อเนื่อง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง