ส่องปรากฏการณ์ "ส.ส. ย้ายสนาม" ลงเลือกตั้งท้องถิ่น

การเมือง
16 ธ.ค. 63
15:32
998
Logo Thai PBS
ส่องปรากฏการณ์ "ส.ส. ย้ายสนาม" ลงเลือกตั้งท้องถิ่น
นับเป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจ เมื่อเลือกตั้ง อบจ.รอบนี้ มีนักการเมืองระดับชาติถอดเสื้อ ส.ส.-ส.ว. ลงเลือกตั้งท้องถิ่น เป็นจำนวนมาก

ตรวจสอบรายชื่อผู้สมัคร นายก อบจ.ทุกภูมิภาค จะพบอดีตนักการเมืองใหญ่ ถอดเสื้อ ส.ส.-ส.ว. แล้วกระโจนสู่สนามท้องถิ่นเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายชื่อ ดังนี้

จ.ลำพูน มีผู้สมัคร นายก อบจ.จำนวน 5 คน ซึ่ง 4 ใน 5 ล้วนผ่านการเมืองระดับชาติมาแล้ว 1.นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ พรรคเพื่อไทย อดีต ส.ส.เพื่อไทย ,อดีต รมว.วัฒนธรรม ,อดีต รมว.พัฒนาสังคมฯ 2.พล.ต.ต.กริช กิติลือ ลงในนามอิสระ 3.น.ส.ชรินรัตน์ พุทธปวน อดีต ส.ส.หลายสมัย ,อดีตที่ปรึกษา รมว.ทองเที่ยวฯ 4.นายสุวสันต์ จันทร์ตาธรรม อดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคเสรีรวมไทย 5.นายขยัน วิพรหมชัย อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์

จ.กาญจนบุรี มีผู้สมัคร นายก อบจ.จำนวน 4 คน ได้แก่ 1.นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ ทีมพลังกาญจน์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ปี 2554 2.นายรังสรรค์ รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ ทีมพลังใหม่ 3.น.ส.สาวิกา ประเสริฐผล ทีม NEXT กาญจนบุรี 4.พ.ต.ท.กิตติพิชญ์ จันทร์สมบูรณ์ ทีมกาญจน์ก้าวใหม่

จ.ชุมพร มีผู้สมัคร นายก อบจ.จำนวน 3 คน ได้แก่ 1.นายลิขิต ศรีชาติ ทีมผึ้งงาน 2.นายศิริศักดิ์ อ่อนละมัย ทีมชุมพรต้องเดินหน้า อดีต ส.ส.หลายสมัย 3.นายนพพร อุสิทธิ์ ทีมพลังชุมพร

จ.อุดรธานี มีผู้สมัคร นายก อบจ.จำนวน 7 คน ได้แก่ 1.นายชวนนท์ ศิริบาล ผู้สมัครอิสระ 2.นายฐานวัฒน์ ธนาธัญญพิชญ์ คณะก้าวหน้าอุดรธานี อดีต ส.ส. 6 สมัย 3.นายวิเชียร ขาวขำ กลุ่มเพื่อไทยอุดรธานี 4. น.ส.อิงค์ณภัจฉร์ ชินวัตรนุวงศ์ กลุ่มเพื่อนอุดรธานี 5. นายศักดา เกตุแก้ว ผู้สมัครอิสระ 6. นายเศรษภัทร์ นิตยสิทธิวรากูล ผู้สมัครอิสระ 7.นายเจริญ หมู่ขจรพันธ์ ผู้สมัครอิสระ

ศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารยประจำภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่ทำให้นักการเมืองระดับชาติ เข้าสู่การเลือกตั้งท้องถิ่นมากขึ้น เป็นเพราะโครงสร้าง อบจ. มีความคล่องตัวในการใช้ งบประมาณ และการบริหาร ที่ค่อนข้างเป็นอิสระจากส่วนกลาง และทุ่มนโยบายไปยังพื้นที่ได้เลย และ 2.ส่วนใหญ่จะเป็นนักการเมืองฝ่ายค้าน เพราะสามารถใช้ช่องทางนี้เพื่อปูฐานเสียงไปยังการเลือกตั้งใหญ่

ส่วนปัจจัยที่ 3. ที่ทำให้นักการเมืองลงสู่ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น เป็นเพราะข้อจำกัดของการเมืองระดับชาติเอง เช่น ส.ส.ห้ามแปรญัตติงบฯ ซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดในการดึงงบประมาณ เข้าพื้นที่ ซึ่งหากเป็นอดีต ยุคก่อน รธน. ปี 2540 อาจจะแปรญัตติดึงงบประมาณเข้าพื้นที่ หลัก 10 ล้านขึ้นไป แต่กับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเขียนห้ามไว้ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม กรณีมีประวัติเป็นนักการเมืองระดับชาติ ส.ส. หรือ ส.ว. ไม่ได้การันตีชัยชนะ เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นมีหลายปัจจัย ทั้งตระกูลการเมือง "บ้านใหญ่" ที่มีอิทธิพล ,ผลงาน ,นโยบายที่ใช้ในท้องถิ่น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง